เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3407
วันที่: 2 เมษายน 2547
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีรายได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(3) มาตรา 91/5(3)
ข้อหารือ: บริษัท อ. ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท บริษัทฯ ขอหารือดังนี้
1. การรับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะโดยนำ
เบี้ยประกันภัยจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุมาเป็นฐานในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ปฏิบัติ
ถูกต้องหรือไม่
2. รายได้ค่าดอกเบี้ยจากการนำเงินที่ได้รับจากการรับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไปลงทุน
หาประโยชน์เพิ่ม บริษัทฯ ไม่ต้องนำรายได้ค่าดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นฐานรายรับในการเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะใช่หรือไม่
3. รายได้ค่าดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้รับจากหุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นไม่ใช่สถาบันการเงิน บริษัทฯ ต้องนำ
รายได้ค่าดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นฐานที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นกิจการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม
มาตรา 91/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษีสำหรับกิจการรับประกันชีวิตได้แก่ ดอกเบี้ย
ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ตามมาตรา 91/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าเบี้ยประกันภัยจึง
ไม่ใช่ฐานภาษีสำหรับกิจการรับประกันชีวิตตามมาตรา 91/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึง
ไม่ต้องนำรายรับค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. รายได้ค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำเงินที่ได้รับจากการรับประกันภัยอุบัติเหตุ ส่วนบุคคลไป
ลงทุนหาประโยชน์เพิ่มโดยการฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น เข้าลักษณะเป็นรายรับที่
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
3. รายได้ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้รับจากหุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่ใช่สถาบันการเงิน ไม่เข้าลักษณะ
เป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นรายรับที่
เป็นดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่เกิดจากกิจการรับประกันชีวิต ย่อมเข้าลักษณะเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 91/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32892


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020