เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ.ก 002
วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3, มาตรา 82/6, มาตรา 89/4, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า บริษัท พ. ได้ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อ
สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 โดยปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายปลีก ขายส่ง และส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง และ แปรรูปสัตว์น้ำ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 บริษัทฯ เริ่มยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 และเริ่มมีรายรับจากการประกอบกิจการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542
2. บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มิได้เฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยบริษัทฯได้ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนธันวาคม 2543
โดยขอคืนภาษีซื้อทั้งจำนวน ต่อมา สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ
ภ.พ.30 ของบริษัทฯ และพบว่าบริษัทฯ มิได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับ
ดังกล่าว สำนักงานสรรพากรพื้นที่จึงได้ดำเนินการปรับปรุงภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามส่วนของ รายได้ที่
เกิดขึ้นจริงของกิจการทั้งสองประเภทสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 และ 2543 ในอัตราส่วน
ร้อยละ 50.85 : 49.15 และ 88.29 : 11.71 ตามลำดับ
สำหรับเดือนมกราคม - ธันวาคม 2544 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยเฉลี่ยภาษีซื้อของ
กิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนของรายได้ของ
รอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 โดยเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30.2
ปรับปรุงภาษีซื้อที่บริษัทฯ ได้เฉลี่ยตามส่วนของรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543(อัตราส่วนร้อยละ
88.29 : 11.71) ให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ใน
อัตราส่วนร้อยละ 99.53 : 00.47 แต่เนื่องจากรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมี
จำนวนไม่ น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้ขอคืนภาษีซื้อทั้งจำนวน คิด
เป็นภาษีซื้อที่ขอคืนทั้งสิ้น 293,119.97 บาท ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้พิจารณาสั่งไม่คืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30.2 ดังกล่าว เนื่องจากการเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามข้อ
2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.
2535
3. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี
ปี 2544 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 โดยให้เหตุผลว่า ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 - 2543
บริษัทฯ ไม่เคยได้รับการตรวจและสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ทราบว่าการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มมาตั้งแต่ต้นถูกต้องหรือไม่ จนกระทั่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ทำการตรวจก่อนคืนภาษี
สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 - 2543 โดยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของ
รอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น ๆ และแจ้งให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อในการยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือน
มกราคม - ธันวาคม 2544 โดยใช้ฐานรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543
บริษัทฯ เข้าใจว่า เมื่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้พิจารณาคืนภาษีซื้อสำหรับเดือนมกราคม -
ธันวาคม 2542 และ มกราคม - ธันวาคม 2543 ให้บริษัทฯ โดยได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของ
รายได้ที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 และ 2543 แล้ว บริษัทฯ สามารถยื่นแบบ ภ.พ.
30.2 เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดี
กรมสรรพากร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือ
บริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ให้ผู้ประกอบการ
นั้นเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งอธิบดีได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อไว้ตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
ดังนั้น กรณีผู้ประกอบการซึ่งเริ่มประกอบกิจการ หรือได้ประกอบกิจการมาแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ หากมี
ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งได้นำไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท และไม่สามารถแยกได้
อย่างชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขของข้อ 2(1) และ (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว กล่าวคือ
ผู้ประกอบการจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการทั้งสอง
ประเภทของปีที่เริ่มมีรายได้ โดยให้นำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการ
ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขาย แต่ภาษีซื้อดังกล่าวจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของ
ภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ย และเมื่อสิ้นปีของปีแรกที่เริ่มมีรายได้ ให้ผู้ประกอบการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไป
ตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง และสำหรับปีถัดจากปีที่เริ่มมีรายได้ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเฉลี่ย
ภาษีซื้อได้ 2 วิธี คือ
(1) เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีซื้อตามที่ได้เฉลี่ยไว้ โดย
ไม่ต้องทำการปรับปรุงภาษีซื้อในภายหลังอีก
(2) เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการทั้งสองประเภท และ
เมื่อสิ้นปีให้ผู้ประกอบการทำการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไป ตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปี ของ
กิจการทั้งสองประเภท
เมื่อผู้ประกอบการได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว ก็ให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป
เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ดี ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวได้กำหนด
หลักเกณฑ์ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ โดยในกรณีที่
รายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 ของ
รายได้ทั้งสิ้นของกิจการ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายได้ โดย
ไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ
2. กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมี
รายได้และเดือนมกราคม - ธันวาคม 2543 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ. 30 ขอคืนภาษีซื้อของกิจการทั้ง
ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวนโดยมิได้ทำการเฉลี่ย
ภาษีซื้อ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทฯ
ตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 และ 2543 โดยได้ทำการประเมิน
เบี้ยปรับกรณีบริษัทฯ แจ้งภาษีซื้อไว้เกินตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แล้ว ซึ่งเมื่อบริษัทฯ
ได้ทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง บริษัทฯ จึงยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนมกราคม - ธันวาคม 2544 โดย
เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา (รอบระยะเวลาบัญชีปี 2543) และได้ยื่นแบบ ภ.พ.
30.2 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2545 เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อของเดือนมกราคม - ธันวาคม 2544 ให้เป็น
ไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 กรณีดังกล่าวจึงถือ ได้ว่าบริษัทฯ ได้
เลือกใช้หลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปี ตาม 1(2) ดังนั้น
การที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30.2 เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อของเดือนมกราคม - ธันวาคม 2544 จึงเป็น
ไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวแล้ว และไม่มีกรณีที่ต้องขอ
อนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในการยื่นแบบ ภ.พ.30.2 เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อของเดือนมกราคม - ธันวาคม
2544 บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้น
จริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ในอัตราร้อยละ 99.53 โดยไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อทั้งจำนวน แต่
สำหรับเดือนมกราคม - ธันวาคม 2545 บริษัทฯ มีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย
ได้ เนื่องจากรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ซึ่งเป็น
ปีที่ผ่านมาของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9
มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 67/32794


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020