เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1347
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดมากับเครื่องเก็บข้อมูล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 43(3)
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Storage Systems) โดยสั่งซื้อจาก
ผู้ผลิตในต่างประเทศ และจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากร
นำเข้าเอง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการขอเครดิตภาษีซื้อซึ่งต้องชำระเมื่อนำเข้า รวมถึงค่า
ภาษีศุลกากร เนื่องจากเงื่อนไขการขายสินค้าลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทั้งหมด สินค้าที่
บริษัทฯ จำหน่ายจะเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มีอุปกรณ์เบื้องต้นในการทำงานของเครื่องคือ Hardware
และ Software ซึ่งจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ มิฉะนั้นเครื่องจะไม่สามารถทำงานได้ Software
เป็นขั้นพื้นฐานเพื่อให้เครื่องทำงานได้เท่านั้น ความสามารถในการทำงานของ Storage equipment
คือใช้ในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ Storage equipment เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่มากกว่า
Server หลายเท่า และสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ใน Server หลาย ๆ ตัว เพื่อพร้อมในการ
เรียกใช้งานได้ตลอดเวลาและรวดเร็วมากขึ้น หากลูกค้ามีความต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพใน
การทำงานของเครื่องหรือเพื่อประโยชน์ในการใช้งานอื่น ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ Software Upgrade
ในภายหลังได้ เพื่อประโยชน์ในการนำเข้าสินค้า ลูกค้าบางรายก็จะขอให้บริษัทฯ แยกราคาสินค้าออกมา
เป็นแต่ละชิ้นรวมถึงมูลค่าของ Software แต่สำหรับลูกค้าบางรายที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอยู่แล้ว
และไม่ได้ซื้อเข้ามาเพื่อจำหน่ายต่อ ก็จะไม่ขอให้แยกรายการ บริษัทฯ เห็นว่า Software พื้นฐานที่ติด
มากับตัวอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อการใช้งานโดยปกติของเครื่องไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย เว้นแต่ว่า Software ดังกล่าวจะทำหน้าที่พิเศษเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานโดยปกติทั่วไป
ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ บริษัทฯ จึงหารือว่า กรณีลูกค้าได้ชำระเงินค่าอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับบริษัทฯ
ลูกค้าของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ จำหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Storage Sys tems) ซึ่งบรรจุ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) พร้อมกับเครื่อง หากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นโปรแกรม
พื้นฐานอันจำเป็นทำหน้าที่ควบคุมให้อุปกรณ์หลักใช้งานได้ ก่อนจะนำโปรแกรมอื่น ๆ มาใช้โดยมิได้กำหนด
แยกราคา Software ออกจากราคาอุปกรณ์หลัก Software ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของ
เครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อลูกค้าของบริษัทฯ จ่ายเงินสำหรับค่าอุปกรณ์ดังกล่าวจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย แต่อย่างใด
2. กรณีบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวตามข้อ 1 หากบริษัทฯ ได้แยกราคา
จำหน่าย Software ออกจากราคาของตัวเครื่อง เฉพาะเงินได้ที่ได้รับสำหรับค่า Software ถือเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ตามข้อ 3/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
เลขตู้: 67/32823

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020