เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8810
วันที่: 23 กันยายน 2547
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขอชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 103, มาตรา 113, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ, กฎกระทรวง (ฉบับที่ 129)
ข้อหารือ: บริษัท ก. ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อสินค้าประเภทสังหาริมทรัพย์ เช่น เครื่องดนตรี
เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ แต่ไม่มีการให้เช่าซื้อรถยนต์ และประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินในประเทศไทย โดย
ตราสารของธุรกิจทั้งสองประเภทดังกล่าว มิใช่ตราสารที่เข้าลักษณะที่กำหนดไว้ตามข้อ 3(2)(ก) และ
ข้อ 3(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)เรื่อง กำหนดวิธีการ
ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.
2538 ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องเสียอากรแสตมป์โดยวิธีปิดอากรแสตมป์ทับบนตราสาร แต่เนื่องจากบริษัทฯ
มีลูกค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. บริษัทฯ สามารถชำระอากรเป็นตัวเงินได้หรือไม่
2. กรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถชำระเงินค่าอากรภายใน 15 วันนับแต่วันต้องปิดอากรแสตมป์
บริบูรณ์ บริษัทฯ จะเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอย่างไร มีการลดหย่อนหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน กรณีบริษัทฯ
ประกอบกิจการให้เช่าซื้อสินค้าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว และประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินในประเทศไทย
สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินและสัญญากู้ยืมเงินกรณีดังกล่าวมิใช่ตราสารที่เข้าลักษณะที่กำหนดไว้ตามข้อ 3(2)(ก)
และข้อ 3(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนด
วิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม
พ.ศ.2538 ตราสารดังกล่าวจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์เพื่อเสีย
อากรตามข้อ 2(2)(4) ข้อ 3(2)(ก) และข้อ 3(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว
อย่างไรก็ดีสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินและสัญญากู้ยืมเงินของบริษัทฯ เข้าลักษณะแห่งตราสาร 3.
และ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงอยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ โดยบริษัทฯ สามารถปิดแสตมป์
บริบูรณ์โดยการใช้แสตมป์ปิดทับ หรือการใช้แสตมป์ดุน หรือการเสียอากรเป็นตัวเงินได้ ตามมาตรา 103
แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ และบริษัทฯ ได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อ
ขอเสียอากรภายหลัง 15 วันนับแต่วันต้องปิดอากรแสตมป์ บริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มอากรตาม 2. ของ
มาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอ
ลดเงินเพิ่มอากรลงได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ
เลขตู้: 67/33142


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020