เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9777
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ การเสียภาษีอากร กรณีการทำสัญญาก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกของกรุงเทพมหานคร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 37, มาตรา 37 ทวิ, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1)
ข้อหารือ: เนื่องจากกรุงเทพมหานคร ได้ประกวดราคาก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก จำนวน 15 แห่ง
ซึ่งในการทำสัญญาก่อสร้างได้แยกสัญญาออกเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาก่อสร้างสะพานและสัญญาการติดตั้ง
คณะทำงานฯ จึงขอหารือว่าการจัดเก็บภาษีอากรในสัญญาทั้ง 2 ส่วน มีความแตกต่างกันหรือไม่ และ
บทลงโทษของการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรมีอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: 1. กรณีกรุงเทพมหานครได้ประกวดราคาก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก จำนวน 15 แห่ง โดย
ได้แยกสัญญาก่อสร้างเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาก่อสร้างสะพานและสัญญาการติดตั้ง กรณีดังกล่าวมีภาระ
ภาษีอากรดังต่อไปนี้
1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้รับจ้างตามสัญญา
ดังกล่าวกับกรุงเทพมหานคร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้ตามสัญญาดังกล่าวมารวมคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สัญญาก่อสร้างสะพานและสัญญาการติดตั้งดังกล่าวเข้า
ลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากกรุงเทพมหานคร
จ่ายค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับจ้าง ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายรับจากการก่อสร้างตามสัญญา
ก่อสร้างสะพานและสัญญาการติดตั้ง เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา
77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับจ้างอยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
กรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะ
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับชำระภาษี(ถ้ามี) ต่อกรมสรรพากรเป็นรายเดือนภาษีตาม
มาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร
1.4 อากรแสตมป์ สัญญาก่อสร้างสะพานและสัญญาการติดตั้งเป็นสัญญาตามลักษณะแห่ง
ตราสาร 4. จ้างทำของ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับจ้างต้องเสีย
อากรโดยทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท ของมูลค่าสัญญาเสียอากร 1 บาท
2. กรณีการหลีกเลี่ยงภาษีมีบทกำหนดโทษทางอาญาดังต่อไปนี้
2.1 กรณีผู้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จหรือ
ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
หรือโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงหรือพยายาม
หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสอง
แสนบาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีผู้เสียภาษีเจตนาละเลยไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายาม
หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้ง
จำ ทั้งนี้ ตามมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ชำระภาษีหรือชำระไว้ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ผู้มี
หน้าที่เสียภาษียังต้องรับผิดในจำนวนภาษีอากรที่ไม่ชำระหรือชำระไว้ไม่ครบถ้วนพร้อมด้วยเบี้ยปรับและ
หรือเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย
เลขตู้: 67/33187

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020