เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./10214
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: บริษัท ก. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) วันที่ 15 มิถุนายน 2544 สำหนับ
เดือนภาษีพฤษภาคม 2544 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนเงิน 93,432.90 บาท และวันที่ 18 ตุลาคม
2544 สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2544 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนเงิน 76,692.33 บาท บริษัทฯ ได้
จดทะเบียนเลิกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 และเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546 ได้รับแจ้งให้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอรับเงินภาษีคืน
จากสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ได้รับแจ้งว่า บริษัทฯ ชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทฯ
ไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงไม่อาจรับเงินภาษีคืนได้
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัท ก. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2544
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีพฤษภาคม 2544 และยื่นแบบ ภ.พ.30 วันที่ 18 ตุลาคม 2544 ขอคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกันยายน 2544 ต่อมาบริษัทฯ ได้แจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน
2544 และเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545 บริษัทฯ จึงสิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว กรณี
ดังกล่าวผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ต้องชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจก
จำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ นั้น และผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจที่จะกระทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็น
เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณี
ผู้ชำระบัญชีทราบว่า บริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ผู้ชำระบัญชีก็มีหน้าที่สะสางการงานของบริษัทฯ
ให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อผู้ชำระบัญชีไม่กระทำก็ถือว่าได้สละการใช้สิทธิ ดังนั้น
เมื่อบริษัท ก. โดยผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอรับเงินภาษีคืนจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลัง
เสร็จสิ้นการชำระบัญชีซึ่งถือว่าสิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว กรมสรรพากรจึงไม่อาจคืนเงินภาษีให้แก่บริษัทฯ ได้
เลขตู้: 67/33211


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020