เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6747
วันที่: 21 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการสนับสนุนเงินรางวัลแก่ผู้มีผลงานวิชาการที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับสากล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 มาตรา 40(1) และมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           สถาบัน A ได้มีนโยบายสนับสนุนการวิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยของสถาบัน A โดยมุ่งเน้นให้คณาจารย์และนักวิจัยมีผลงานตีพิมพ์ขึ้นสู่ระดับสากล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและเขียนผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ สถาบัน A จึงได้จัดสรรเงินรางวัลจากรายได้ของสถาบัน A เอง เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้ที่มีผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับสากล โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกจากคณะกรรมการประจำสถาบัน A ตามประกาศสถาบันA เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนเงินรางวัลแก่ผู้ที่ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับสากล (ประกาศสถาบัน A ) ดังนี้
          1.คุณสมบัติของผู้ขอรับเงินรางวัล
               1.1 เป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยา ก.ที่ปฏิบัติงานประจำ (เต็มเวลา) ในสถาบัน A
               1.2 เป็นผู้นิพนธ์ชื่อแรก (first author) หรือเป็นชื่อหลัก (corresponding author) ของผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์
          2.การพิจารณาเงินรางวัล
               2.1 เป็นงานวิจัยที่เป็น Original Article ที่เป็นบทความเต็ม
               2.2 เป็นผลงานตีพิมพ์ที่มีค่า Impact Factor รวมสะสมภายใน 1 ปีปฏิทินอย่างน้อย2/4/6/8 ในอาจารย์ - นักวิจัย/ผู้ช่วยศาสตราจารย์/ รองศาสตราจารย์/ศาสตราจารย์ ตามลำดับ
               2.3 อัตราเงินรางวัล 10,000 บาท โดยผลงานวิชาการและผลงานวิจัยเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยา ก.และของสถาบัน A สถาบัน A จึงหารือว่า เงินรางวัลที่สถาบัน A ให้แก่ผู้ที่มีผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับสากลดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีสถาบัน A จัดสรรเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นรางวัลแก่ข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยา ก.ที่ปฏิบัติงานประจำ (เต็มเวลา) ในสถาบัน A ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับสากล ตามหลักเกณฑ์ของประกาศสถาบัน A โดยผลงานดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยา ก.และสถาบัน A นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นรางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ที่ได้รับเงินรางวัลต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39801

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020