เมนูปิด

          นาย ช. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 00 นาย ช. ได้ถึงแก่กรรมและมีทายาท 6 คน คือนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. นางสาว พจ. และนางสาว ต. ทายาททั้ง 6 คน เข้ายื่นเรื่องขอรับมรดกไม่มีพินัยกรรม โดยเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวและมีสิทธิเท่าๆ กัน ต่อมานางสาว ต. ถึงแก่กรรม นาย ว.จึงร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาว ต. และให้ส่วนที่เป็นของนางสาว ต. ตกแก่พี่น้อง 5 คน คนละส่วนเท่าๆ กัน โดยทุกคนได้ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีตามส่วนของตน ต่อมานางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. ได้ทำสัญญากับบริษัทฯ ให้เช่าที่ดินมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2582 โดยจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และบริษัทฯ ได้จ่ายค่าเช่าล่วงหน้าเพื่อสิทธิการเช่าจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจ่ายให้แก่นางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. และนางสาว พจ. คนละ 10 ล้านบาท และหักภาษี ณ ที่จ่าย คนละ 500,000 บาท เฉพาะส่วนของนาย ว.นั้น นาย ว.ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ผู้เช่า ทราบว่า เตรียมจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่บุตรรวม 3 คน คนละเท่าๆ กัน คือ นางสาวว ว. นาย ธ. และนาย ท. จึงให้บริษัทฯ ผู้เช่า จ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่บุตรทั้ง 3 คน คนละ 3.33 ล้านบาท และหักภาษี ณ ที่จ่าย คนละ 166,666 บาท


          เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 นางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. นางสาว พจ. นางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. ได้นำเงินได้ค่าเช่าล่วงหน้ายื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ในนามแต่ละคนเพื่อขอเฉลี่ยเงินได้และเสียภาษีล่วงหน้า 30 ปี และต้นปี 2553 ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ของปีภาษี 2552 ขอคืนภาษีที่ชำระเกินไปตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า บุคคลทั้ง 7 คน ยื่นแบบเสียภาษีผิดหน่วยภาษี จึงไม่คืนเงินภาษีตามที่ขอและแจ้งให้ชำระภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลภายในเดือนมีนาคม 2553 นางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. จึงได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ใหม่ในนามคณะบุคคลนางสาว พ. (5 คน) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 โดยขอขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ในนามคณะบุคคลดังกล่าวแล้วในวันที่ 24 มีนาคม 2553 และยื่นแบบฯ เพิ่มเติมวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 โดยนาย ว.ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินเฉพาะส่วนของนาย ว.ให้แก่นางสาว ว. นาย ธ. นาย ท. บุตรทั้ง 3 คน ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นาย ว.จึงขอทราบว่า


               1.กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละคนมีรายได้ค่าเช่าที่ดินซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์สินโดยมิได้ร่วมกันประกอบธุรกิจเพื่อมุ่งค้าในการค้าหากำไร เหตุใดจึงต้องเสียภาษีในนามคณะบุคคล


               2.กรณีที่ได้ทำสัญญายกสิทธิเก็บกินให้บุตรทั้ง 3 คน และได้แจ้งให้บริษัทฯ ผู้เช่า จ่ายเงินให้แก่บุตรทุกคนโดยตรง เหตุใด บุตรจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่นาย ว.ต้องเสียภาษีเงินได้เสมือนเป็นผู้มีเงินได้


               3.กรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ละคนได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 93 ปี 2553 ถึงปี 2582 ไว้แล้ว เมื่อได้จดทะเบียนบรรยายส่วนความเป็นเจ้าของที่ดินหรือแบ่งแยกโฉนดที่ดินแล้วแต่ละคนจะขอปรับปรุงภาษีค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้ชำระไปแล้วในนามคณะบุคคลนางสาวพเยาว์ สาธุการ และพวก ได้หรือไม่


               4.กรณีที่มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินตามกรรมสิทธิ์ของเจ้าของแต่ละคน ในปี 2553 เมื่อได้ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดแล้ว รายได้ค่าเช่าที่ดินซึ่งแต่ละคนจะได้รับเป็นรายเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นไป สามารถนำไปคำนวณยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ของแต่ละคน โดยไม่ต้องนำไปเสียภาษีในนามคณะบุคคลได้หรือไม่

          1.กรณีนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. ผู้ให้เช่าได้นำที่ดินมรดกที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมของบุคคลทั้งห้าไปทำสัญญาให้บริษัทฯ เช่าที่ดินมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2582 โดยจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และบริษัทฯ จ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้าเพื่อสิทธิการเช่าจำนวน 50 ล้านบาท เงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่คณะบุคคลนางสาว พ. (รวม 5 คน) ได้รับเนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร คณะบุคคลดังกล่าวจึงต้องนำเงินค่าเช่าล่วงหน้าทั้งจำนวนไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือมีสิทธินำเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้รับมาเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าแล้วยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเป็นการล่วงหน้าตามแบบ ภ.ง.ด. 93 ให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้นตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ก็ได้


          2.กรณีนาย ว.จดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินซึ่งให้บริษัทฯ เช่าให้แก่บุตรทั้ง 3 คน คือ นางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 เป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินทั้ง 3 คน มีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งที่ดิน ตามมาตรา 1417 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินทั้ง 3 คน จึงมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2553 การให้เช่าที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. กับบริษัทฯ ยังคงมีอยู่ และถือได้ว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินทั้ง 3 คน มีเจตนาร่วมกับนางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. และนางสาว พจ. นำที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งตนมีสิทธิเก็บกินออกให้บริษัทฯ เช่าตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2553 เงินค่าเช่าที่นางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. นางสาวพอใจ และผู้ทรงสิทธิเก็บกินทั้ง 3 คน ได้รับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2553 จึงต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคลนางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. นางสาว พจ. นางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. (รวม 7 คน) ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร


          3.กรณีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 นางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. นางสาว พจ. นางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. ได้นำเงินได้ค่าเช่าที่ดินล่วงหน้ายื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ในนามแต่ละคน (7 คน) เพื่อขอเฉลี่ยเงินได้และเสียภาษีล่วงหน้า 30 ปี และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2552 จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีผิดหน่วยภาษี เพราะการนำเงินได้ค่าเช่าที่ดินล่วงหน้ายื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ในกรณีดังกล่าวต้องยื่นในนามของคณะบุคคลนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. (รวม 5 คน) เนื่องจากนางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งที่ดินตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2553 จึงถือว่า คณะบุคคลดังกล่าว (รวม 5 คน) ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้เป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินเพื่อใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 นั้น แต่กรณีนางสาว พ. นาง พย. นางสาว ป. นางสาว พจ. นางสาว ว. นาย ธ. และนาย ท. ได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ในนามของแต่ละคน (7 คน) และชำระภาษีเงินได้เป็นการล่วงหน้าไว้แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม 2552 เห็นได้ว่ามีเจตนายื่นแบบแสดงรายการเฉลี่ยเงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าพร้อมกับชำระภาษีเงินได้จากเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าไว้แล้ว เมื่อคณะบุคคลนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. (รวม 5 คน) ได้นำเงินค่าเช่าล่วงหน้ามายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีในวันที่ 29 มีนาคม 2553 อันเป็นการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับค่าเช่าล่วงหน้า กรณีถือว่า มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ จึงอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการเงินได้และชำระภาษีเงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2553 ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.75 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรส่วนการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ที่ได้ยื่นในนามคณะบุคคลนางสาว พ. นาง พย. นาย ว. นางสาว ป. และนางสาว พจ. (รวม 5 คน) ในวันที่ 24 มีนาคม 2553 และยื่นเพิ่มเติมในวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 คณะบุคคลฯ ไม่มีสิทธินำภาษีอากรที่ชำระในนามของผู้มีเงินได้แต่ละคนมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ของคณะบุคคลฯ ได้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษีในนามของผู้มีเงินได้แต่ละคนโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรที่ได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด. 93 และแบบ ภ.ง.ด. 90

เลขที่หนังสือ: 0702/5813 วันที่: 18 มิถุนายน 2558 เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีรายได้จากการให้เช่าที่ดิน ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 อัฏฐ และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 78/39739

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020