เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5540
วันที่: 11 มิถุนายน 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ข้อกฎหมาย : ข้อ 2(55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126
ข้อหารือ           นาย ว.ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ของธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) ในปี 2550 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2551 นาย ว.ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ของธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด และซื้อหน่วยลงทุนใหม่เป็นของกองทุนเปิดฯ เพื่อการเลี้ยงชีพของธนาคาร ข. จำกัด (มหาชน) โดยซื้อติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2558 ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 นาย ว.ได้ขายคืนหน่วยลงทุนของปี 2551 ไปแล้วสองครั้ง ปัจจุบันนาย ว.ยังมีหน่วยลงทุนตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2558 รายละเอียด นาย ว. ต้องการขายหน่วยลงทุน RMF บางส่วนซึ่งซื้อมาในปี 2551 เป็นครั้งที่ 3 และในอนาคตต้องการจะขายหน่วยลงทุน RMF บางส่วนของปี 2552 และปี 2555 นาย ว.จึงขอทราบสิทธิประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุน RMF ในกรณีดังกล่าว
แนววินิจฉัย           1.นาย ว.ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ของธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกเมื่อปี 2550แต่นาย ว.ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ของธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด และซื้อหน่วยลงทุนใหม่เป็นของกองทุนเปิดฯ เพื่อการเลี้ยงชีพของธนาคาร ข. จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2551 โดยซื้อติดต่อกันทุกปีจนถึงปี 2558 การนับอายุหน่วยลงทุน RMF จึงต้องนับอายุหน่วยลงทุนปี 2551 เป็นปีแรกและกรณีนาย ว.ต้องการขายหน่วยลงทุน RMF ของปี 2551 บางส่วน หากนาย ว.ได้ซื้อหน่วยลงทุนติดต่อกันทุกปีและถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก และขณะที่ขายหน่วยลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เงินได้เท่าที่นาย ว.ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (56) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2544 ทั้งนี้ ไม่รวมส่วนของเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน RMF ในส่วนที่ซื้อไว้เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด
          2. กรณี นาย ว.ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ของปี 2551 ไปหมดแล้วเมื่อ เดือนมกราคม 2558 หากนาย ว.ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ของปี 2558 ใหม่ หลังจากที่ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ไปแล้วนั้น นาย ว.ต้องถือหน่วยลงทุนที่ซื้อใหม่ดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่นั้น โดยต้องซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน และขณะไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว นาย ว.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่ดังกล่าว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกินห้าแสนบาท จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
เลขตู้: 78/39716

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020