เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5319
วันที่: 3 มิถุนายน 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเหตุอันสมควรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537ฯ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ก. จำกัด ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเหตุอันสมควรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537 เรื่อง แนวทางการพิจารณา "เหตุอันสมควร" กรณีแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ว่า ในการพิจารณา "เหตุอันสมควร" ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.50/2537ฯลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ข้อ 1. ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว ให้ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร" กรณีดังกล่าวกรมสรรพากรพิจารณาเปรียบเทียบระหว่าง "ภาษีที่คำนวณได้" (รายการที่ 1 ข้อ 4 ของแบบ ภ.ง.ด. 51) กับ "ภาษีที่คำนวณได้" (รายการที่ 2 ข้อ 2 ของแบบ ภ.ง.ด. 50) มิใช่จาก "ภาษีที่ชำระเพิ่มเติม" (รายการที่ 1 ข้อ 6 ของแบบ ภ.ง.ด. 51) กับ "ภาษีที่ชำระเพิ่มเติม" (รายการที่ 2 ข้อ 4 ของแบบ ภ.ง.ด. 50) ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ยื่นรายการและชำระภาษีครึ่งปี โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากบริษัทฯ ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย กรณีถือว่ามีเหตุอันสมควร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.50/2537ฯ ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537
เลขตู้: 78/39703

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020