เมนูปิด

          หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่าย

ค่าจัดส่งพนักงาน (Dispatch Fee) ราย บริษัท B เอเชีย จำกัด (บริษัทฯ) โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้


          1. บริษัทฯ จดทะเบียน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม มีนาย ม หรือนาย ท หรือนาย ฮ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งบริษัทฯ มีสถานะเป็นบริษัทลูกของบริษัท A จำกัด (บริษัทแม่) ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น


          2. บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทแม่ในการจัดส่งพนักงานเข้ามาทำงานให้บริษัทฯ ในประเทศไทย

ตามหนังสือสัญญาเกี่ยวกับคำสั่งให้ไปประจำหน้าที่นอกพื้นที่


           การเปลี่ยนแปลงหรือการต่อระยะเวลาการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทฯ โดยจะต้องหารือกันทั้งสองฝ่าย และต้องกำหนดเป็นการล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งพนักงานชาวญี่ปุ่นยังมีฐานะเป็นพนักงานของบริษัทแม่ และนับอายุงานในประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่องกันไป


           3. บริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเดือน และเงินโบนัสแก่พนักงานชาวญี่ปุ่นขณะที่มาทำงานในประเทศทั้งหมด ดังนี้


                3.1บริษัทแม่จะโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีในประเทศญี่ปุ่นของพนักงานชาวญี่ปุ่น ทุกวันที่

24 ของเดือน และบริษัทแม่จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินที่จ่ายดังกล่าวจากบริษัทฯ ทุกเดือน และบริษัทฯ จะโอนเงินคืนให้แก่บริษัทแม่ในเดือนถัดไป โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมจากบริษัทฯ


                3.2 บริษัทฯ จะโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีในประเทศไทยของพนักงานชาวญี่ปุ่น


           4. บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินเดือน และเงินโบนัสของพนักงานชาวญี่ปุ่นคืนให้แก่บริษัทแม่ในแต่ละเดือนตาม 3.1 เงินดังกล่าวเป็นเงินค่าจัดส่งพนักงาน (Dispatch Fee) หรือเงินจ่ายคืนให้แก่บริษัทแม่ (Reimbursement Fee)

           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล


           กรณีบริษัทฯ ทำข้อตกลงกับบริษัทแม่ ส่งพนักงานชาวญี่ปุ่นของบริษัทแม่เข้ามาทำงานให้กับบริษัทฯ ในประเทศไทย ตามหน้าที่หลักที่ระบุในหนังสือสัญญา เป็นระยะเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ตามหนังสือสัญญาเกี่ยวกับคำสั่งให้ไปประจำหน้าที่นอกพื้นที่ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเดือน และเงินโบนัสให้กับพนักงานชาวญี่ปุ่นในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ ทั้งที่จ่ายจากบริษัทฯ ในประเทศไทย และที่จ่ายจากบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทแม่ไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการอื่นใดเพิ่มเติมอีก และพนักงานชาวญี่ปุ่นยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทแม่ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาให้บริการโดยส่งพนักงานเข้ามาให้บริการในประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นการให้บริการผ่านลูกจ้างหรือพนักงานอื่น เป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่าหกเดือนภายในสิบสองเดือนใดๆ และถือว่า บริษัทแม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาฯ และการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งบริษัทแม่ประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทแม่จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณจากค่าบริการซึ่งเป็นเงินเดือน และเงินโบนัสที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้พนักงานชาวญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528


          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม


          การให้บริการของบริษัทแม่ตาม 1. เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินเดือน และเงินโบนัสให้กับพนักงานชาวญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นค่าบริการตามหนังสือสัญญาเกี่ยวกับคำสั่งให้ไปประจำหน้าที่นอกพื้นที่ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการดังกล่าว ตามมาตรา 83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร


          3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (กรณีภาระภาษีของพนักงานชาวญี่ปุ่น)


          กรณีพนักงานชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานตามหน้าที่หลักที่ระบุในหนังสือสัญญาให้บริษัทฯ ในประเทศไทย ในนามของบริษัทต่างประเทศ ตามหนังสือสัญญาเกี่ยวกับคำสั่งให้ไปประจำหน้าที่นอกพื้นที่ เงินเดือนและเงินโบนัสของบุคคลดังกล่าวถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย ไม่ว่าจะจ่ายจากในหรือนอกประเทศไทยก็ตาม ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 14 แห่งอนุสัญญาฯ แม้พนักงานชาวญี่ปุ่นไม่ได้นำเงินเดือนที่จ่ายโดยบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยก็ตาม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: 0702/8590 วันที่: 23 กันยายน 2558 เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าจัดส่งพนักงาน (Dispatch Fee) ข้อกฎหมาย : มาตรา 41 มาตรา 77/2 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 78/39848

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020