เมนูปิด

           บริษัท A จำกัด กับบริษัท B จำกัด ได้ประกอบกิจการร่วมกัน เพื่อประมูลงานจากหน่วยราชการ จึงได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจัดตั้งกิจการร่วมค้า บริษัท A จำกัด และบริษัท B จำกัด (กิจการร่วมค้าฯ) พร้อมกับดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้าต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ก แล้ว

ต่อมากิจการร่วมค้าฯ ได้ไปทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับกระทรวง ม. ปรากฏว่าทางหน่วยราชการดังกล่าวปฏิเสธการทำสัญญา โดยอ้างว่ากิจการร่วมค้าฯ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กรณีจึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการร่วมค้าฯ จึงหารือว่า กิจการร่วมค้าฯ เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่

          1. กิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งกิจการที่จะเข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้าจะต้องมีลักษณะ ดังนี้


               1.1 ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือ ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก หรือ


               1.2 ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญาว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือ


               1.3 ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน


           2. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ได้มีการจัดทำสัญญาจัดตั้งกิจการร่วมค้า และดำเนินการเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งตาม 1. พร้อมกับดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้าต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ก ของกรมสรรพากรแล้ว กิจการร่วมค้าฯ จะเข้าลักษณะเป็น "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: 0702/8592 วันที่: 23 กันยายน 2558 เรื่อง: ลักษณะของกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 78/39874

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020