เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/8757
วันที่: 29 กันยายน 2558
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้ค่าป่วยการของอนุญาโตตุลาการ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81/1 และมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           นาย ก.ซึ่งมีเงินได้จากค่าป่วยการที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ และเงินได้จากการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย โดยมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 นาย ก.ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) เป็นประจำทุกปี แต่มิได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
          1.นาย ก.ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 โดยยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ แต่ได้โต้แย้งประเด็นค่าป่วยการจากการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ว่าเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาที่เสียไปของอนุญาโตตุลาการมากกว่าเป็นสินจ้างหรือราคาค่าบริการในเชิงพาณิชย์ การที่จะให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากหน่วยงานด้านอนุญาโตตุลาการหรือให้หน่วยงานด้านอนุญาโตตุลาการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคู่พิพาทซึ่งมีทั้งประชาชนพิพาทกับประชาชน หรือรัฐพิพาทกับประชาชนย่อมก่อให้เกิดภาระและอุปสรรคต่อการส่งเสริมและพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมด้านระงับข้อพิพาททางเลือก
แนววินิจฉัย           กรณี นาย ก.ได้รับเงินค่าป่วยการที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการและค่าที่ปรึกษา นั้น เงินได้ดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากค่าป่วยการที่อนุญาโตตุลาการและค่าวิชาชีพ ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการว่าความหรือการว่าต่างแก้ต่างคดีความในศาล ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ นาย ก.ได้รับรายได้ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าที่ปรึกษาดังกล่าวเกิน 1,800,000 บาทต่อปี จึงมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าว ตามมาตรา 81/1 และมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39880

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020