เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2993
วันที่: 9 มีนาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมขายที่ดินเฉพาะส่วนของตน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.นายธ. (นาย ธ.) และนางสาว ณ. (นางสาว ณ.) ได้ร่วมกันซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 และมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันมาโดยตลอด
          2.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 นาย ธ. และนางสาว ณ. ได้ขายที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันตาม 1. โดยทำสัญญาขายเฉพาะส่วนและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะส่วนของตน ดังนี้
               (1)นาย ธ. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บริษัท ท. จำกัด
               (2)นางสาว ณ. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บริษัท ต. จำกัด
          3.พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนตามคำขอของนาย ธ. และนางสาว ณ. พร้อมทั้งเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากนาย ธ. และนางสาว ณ. คนละ 900,400 บาท โดยคำนวณตามส่วนจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น (ราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ตามส่วนๆ ละ 14,504,000 บาท)
          4.กรมที่ดินขอหารือดังนี้
               4.1พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนได้เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากนาย ธ. และนางสาว ณ. ตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ถูกต้องหรือไม่
               4.2หากปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร
                    (1)ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ได้แยกกันขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อต่างรายกันในวันเดียวกัน
                    (2)ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ได้แยกกันขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อรายเดียวกันแต่ต่างวันกัน
แนววินิจฉัย           1.กรณีนาย ธ. และนางสาว ณ. ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 และเข้าถือกรรมสิทธ์ที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินหรือบรรยายส่วนกันไว้อย่างชัดเจน ต่อมา นาย ธ. และนางสาว ณ. ต่างได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นตามข้อเท็จจริงข้างต้น แม้นาย ธ. และนางสาว ณ. จะได้ทำสัญญาซื้อขายแยกกัน และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนขายเฉพาะส่วนตามคำขอของผู้ขอแต่ละคนก็ตาม แต่เมื่อการถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขายและได้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ดังนั้น นาย ธ. และนางสาว ณ. จึงต้องเสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
          2.กรณีที่กรมที่ดินขอทราบแนวปฏิบัติเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตาม 4.2 นั้น ขอเรียนว่า ในการขายอสังหาริมทรัพย์ กรณีที่มีการถือกรรมสิทธ์รวมนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนี้
               (1)กรณีการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับมรดก การให้โดยเสน่หา การครอบครองปรปักษ์ หรือจากการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้บุคคลอื่นเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลัง ให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์รวมเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา โดยแยกเงินได้ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม
               (2)กรณีการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขาย ขายฝาก หรือแลกเปลี่ยน โดยเข้าถือกรรมสิทธ์รวมพร้อมกัน ให้เสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล แต่หากไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์ รวมเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา โดยแยกเงินได้ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้น ขอให้กรมที่ดินพิจารณาข้อเท็จจริงในการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ขายอสังหาริมทรัพย์นั้นว่า เข้าลักษณะตามเหตุใดในข้อ (1) และ (2) ในการเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
เลขตู้: 78/39558

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020