เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4078
วันที่: 11 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีอากรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1(8)(9) มาตรา 77/2 มาตรา 82/4 มาตรา 91/2(6) มาตรา 91/1(4) และมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทฯ ยื่นขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ และไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หนี้ดังกล่าวธนาคารเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องต่อศาลให้บริษัทฯ นำทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นมาชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้จนครบ บริษัทฯ จึงมีแนวทางที่จะยื่นขอต่อศาลเพื่อชำระหนี้ ดังนี้
        1. บริษัทฯ จะขายที่ดินซึ่งจำนองธนาคารเจ้าหนี้ไว้จำนวนเงิน464 ล้านบาท แบ่งจ่าย 2 งวด เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาว่า ผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีธุรกิจเฉพาะ
        2. บริษัทฯ จะขายที่ดินหรือโอนทรัพย์สินที่จำนองไว้กับธนาคารเจ้าหนี้โดยวิธีประเมินราคาทรัพย์ชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้ ทรัพย์สินดังกล่าว ได้แก่ ที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้
        3. บริษัทฯ จะขายที่ดินหรือโอนที่ดินแปลงอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาจำนองไว้กับธนาคารเจ้าหนี้โดยวิธีประเมินราคาทรัพย์ชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้
        ตามวิธีการในข้อ 1 ถึงข้อ 3 บริษัทฯ จะได้รับการลดหนี้ (Hair cut) ดอกเบี้ยค้างจ่ายที่บริษัทฯ ตั้งค้างไว้ตามบัญชีทั้งหมดประมาณ 750 ล้านบาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า รายได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าว จะถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และบริษัทฯ มีภาระภาษีประเภทใดบ้าง
แนววินิจฉัย:         1. กรณีบริษัทฯ ยื่นขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ และไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด บริษัทฯ จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ขายหรือโอนที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ตาม 1 2 และ 3 จึงแยกพิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้
        1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ขายหรือโอนที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีประเมินราคาทรัพย์ชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้ บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายหรือโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำรายได้ดังกล่าวหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการคำนวณกำไรสุทธิจากการขายที่ดินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องคำนวณราคาขายให้เป็นไปตามราคาตลาดในวันที่มีการโอน ทั้งนี้ หากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
        1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ขายหรือโอนเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์โดยวิธีประเมินราคาทรัพย์ชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ผู้โอนจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับโอน ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) (9) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
        1.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ขายหรือโอนที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการโดยวิธีประเมินราคาทรัพย์ชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้ อันเข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนไปซึ่งทรัพย์สินโดยมีประโยชน์ตอบแทน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2 (6) และตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
        2. กรณีผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามข้อตกลงที่ระบุในสัญญา บริษัทฯ ต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีบริษัทฯ ได้รับการลดหนี้ (Hair cut) ดอกเบี้ยค้างจ่ายจากธนาคารเจ้าหนี้ บริษัทฯ ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการลดหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้มารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/34847

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020