เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4184
วันที่: 20 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากการให้เช่า ให้แก่บุคคลอื่น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง เช่น ยานพาหนะ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องจักร ให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
        (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
        (2) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
        (3) มูลนิธิ องค์การสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ
        (4) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น และสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
        บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งกับผู้เช่ามีระยะเวลาการให้เช่าประมาณ 3-5 ปี และจะได้รับเงินค่าเช่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าผู้เช่าจะส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่บริษัทฯ ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา หากบริษัทฯ ได้นำทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าไปบริจาคให้แก่บุคคลตาม (1) ถึง (4) หรือบริจาคให้แก่ผู้เช่าโดยตรง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. การบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ให้แก่ บุคคลตาม (2) (3) หรือ (4) เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินที่บริจาคมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และจะใช้ราคาใด เป็นฐานในการคำนวณภาษี
        2. มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหลังหักค่าเสื่อมราคาที่ยังเหลืออยู่ ณ วันบริจาค บริษัทฯ สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ หรือไม่
        3. หากบริษัทฯ นำทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากการเช่า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไปบริจาคให้แก่ส่วนราชการ เพื่อบริจาคให้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน บริษัทฯ ต้องถือ มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหลังหักค่าเสื่อมราคาที่ยังเหลืออยู่ ณ วันบริจาค เป็นรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามข้อ 1(10) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535 และหักได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
        4. หากบริษัทฯ นำทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากการเช่า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไปบริจาคให้แก่
            (1) สถานศึกษา หอสมุด หรือ ห้องสมุด หรือ สถาบันวิจัย ทั้งนี้ เฉพาะของทางราชการ
            (2) กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างสถานศึกษา หอสมุด หรือ ห้องสมุดของทางราชการ
            (3) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น และ สถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
        บริษัทฯ ต้องถือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหลังหักค่าเสื่อมราคาที่ยังเหลืออยู่ ณ วันบริจาค เป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษา และหักได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44)ฯ ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือไม่
แนววินิจฉัย:         1. การบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าให้แก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เข้าลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินตามราคาตลาดมารวมคำนวณเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยบริษัทฯ สามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สิน ณ วันบริจาคไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และการบริจาคทรัพย์สินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้นมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ประกอบกับมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. การบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าให้แก่ องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3(4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ บริษัทฯ สามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สิน ณ วันบริจาคไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535
        3. การบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าตามข้อ 3 เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ บริษัทฯ สามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สิน ณ วันบริจาคไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(10) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณ-ประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535
        4. การบริจาคทรัพย์สินที่ได้รับคืนจากผู้เช่าตามข้อ 4. เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษา บริษัทฯ สามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สิน ณ วันบริจาคไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44)ฯ ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535
เลขตู้: 70/34867

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020