เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4151
วันที่: 20 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเก็บรักษาบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 87/3 มาตรา 23 มาตรา 83/6 และมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทฯ ประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากเอกสารเกี่ยวกับบัญชีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ มีจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาในการเก็บรักษาเอกสาร บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะต้องเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวเป็นระยะเวลาห้าปี ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย:         1. การเก็บรักษาเอกสารตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานหรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการหรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงาน แล้วแต่กรณี และในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดให้เก็บและรักษาไว้เกินห้าปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปี ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่จะต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานไว้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดปี
        อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกหรือมีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรจากผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ตามมาตรา 23 มาตรา 83/6 และมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประมวลรัษฎากร มิได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกหรือประเมินภาษีอากรได้ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี จึงต้องมีเอกสารเกี่ยวกับการประกอบกิจการเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบในกรณีดังกล่าว
        2. สำหรับบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี บริษัทฯ มีหน้าที่เก็บรักษาตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์
เลขตู้: 70/34865

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020