เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11440
วันที่: 28 ธันวาคม 2547
เรื่อง: การขอคืนภาษีกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ประเด็นปัญหา: มาตรา 744(2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547
            1. นาง ช. ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน โดยกู้เงินจากธนาคารและได้จำนองที่ดิน ที่จัดสรรไว้กับธนาคารฯ ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 ต่อมานาง ช. ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินต่อสำนักงานที่ดินและได้ขอให้ธนาคารฯ ปลอดจำนองที่ดินเพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยกำหนดให้ที่ดินที่จะขออนุญาตจัดสรรต้องปลอดภาระผูกพันใดๆ ธนาคารฯ ได้ปลอดจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่นาง ช. ตามข้อตกลงปลอดจำนอง ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2537 โดยได้จดทะเบียนปลอดจำนองไว้กับสำนักงานที่ดิน จากนั้นคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน จึงออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินให้
          2. นาง ช. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารฯ โดยต้องชำระหนี้ให้ธนาคารฯ จำนวนเงิน 9,177,180.11 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2546 และวันที่ 14 มิถุนายน 2547 นาง ช. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 67425 อำเภอเมืองเชียงรายพร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวเฮาส์ 2 ชั้น ให้แก่นางสาว น. และขอรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนเงิน 15,842 บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวนเงิน 21,120 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่เรียกเก็บ 36,962 บาท เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า การจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวเป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นเพื่อชำระหนี้สถาบันการเงิน ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้ลดค่าธรรมเนียมตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวพ้นจากการจำนองแล้ว
แนววินิจฉัย          1. กรณีนาง ช. กู้เงินธนาคาร โดยนำโฉนดที่ดินที่จัดสรรไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารฯ เป็นประกันการกู้ยืมเงิน และต่อมาได้ขอให้ธนาคารฯ ดำเนินการปลอดจำนองที่ดินให้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ขอทำการจัดสรรมีกรรมสิทธิ์แต่มีภาระผูกพันอยู่ ผู้ขอต้องจัดการให้ที่ดินที่ขอจัดสรรปราศจากภาระผูกพัน จึงจะอนุญาตให้จัดสรรได้ เมื่อนาง ช. และธนาคารฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือให้ที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้พ้นจากการจำนอง และได้จดทะเบียนปลอดจำนอง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว โดยยังมิได้ชำระหนี้ จึงเป็นการปลอดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือ เป็นเหตุให้จำนองระงับสิ้นไป ตามมาตรา 744(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ธนาคารฯ จะได้ยึดต้นฉบับโฉนดที่ดินที่ปลอดจำนองไว้ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ธนาคารฯ ที่จะสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินนั้นได้ แต่หนี้สัญญากู้เงินที่เป็นหนี้ประธานยังคงมีอยู่ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกหนี้ประธานได้
          2. กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 จะต้องเป็น การโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินซึ่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงิน และการโอนอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นการกระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 และต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ในกรณีของนาง ช. แม้ที่ดินจะได้จดจำนองไว้กับธนาคารฯ ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 แต่ได้ปลอดจำนองก่อนทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กรณีจึงไม่เข้าลักษณะการจำนองเป็นประกันหนี้ตาม ความหมายของพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2547 ซึ่งภาระจำนองจะต้องมีอยู่จนกว่าจะได้มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้จดทะเบียนโอนขายให้ผู้อื่นที่มิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ดังนั้น นาง ช. จึงไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสารตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2547 และไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีที่ได้ชำระในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแต่ประการใด
เลขตู้: 67/33252

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020