เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/823
วันที่: 29 มกราคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการว่าจ้างอาจารย์จาก สถาบันสอนภาษาอังกฤษมาให้ความรู้แก่พนักงาน
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:           บริษัทฯ มีนโยบายในการส่งเสริมความรู้และความถนัดทางด้านภาษาอังกฤษให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับนายจ้างที่เป็นคนต่างประเทศและบริษัทฯ ต่างประเทศที่ทำการติดต่อการค้า ดังนั้น เพื่อให้การทำงานของบริษ้ทดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจึงได้ว่าจ้างอาจารย์จากสถาบันสอนภาษาอังกฤษมาให้ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษแก่พนักงาน โดยสถาบันสอนภาษาใช้การทดสอบวัดระดับความรู้เพื่อวัดประสิทธิผลหลังจากที่ได้เรียนแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาอังกฤษ บริษัทฯ เป็นผู้ออกให้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถือเป็นรายจ่ายตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ใช่หรือไม่
          2. ค่าจ้างอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและค่าใช้จ่ายในการทดสอบวัดระดับความรู้ทางข้อสอบ TOEIC ที่บริษัทออกให้จะต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงานหรือไม่
          3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับการให้บริการสอนภาษาอังกฤษมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:
          1. กรณีตาม 1. ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ในการส่งพนักงานของบริษัทฯ เข้ารับการสอนภาษาอังกฤษ เป็นรายจ่ายเพื่อให้การทำงานของบริษัทฯ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และมิได้เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธินำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
          กรณีบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่จ่ายไปนั้น จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทฯ ตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 148) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
          2. กรณีตาม 2. การจัดส่งเสริมความรู้และความถนัดทางด้านภาษาอังกฤษให้กับพนักงานของบริษัทฯ รวมถึงการจ้างอาจารย์และการทดสอบวัดระดับความรู้ทางข้อสอบ TOEIC ให้กับพนักงานทุกคนในบริษัทเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของบริษัทฯ ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน พนักงานจึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          3. กรณีตาม 3. ภาษีซื้อที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปสำหรับการบริการการสอนภาษาอังกฤษให้กับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/34750

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020