เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/684
วันที่: 24 มกราคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: ข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ:           ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ (60 ปี) โดยการออกจากงานนั้น ได้ทำเป็นหนังสืออนุญาตให้พนักงานออกจากงาน โดยความเห็นชอบร่วมกันระหว่างนายจ้างกับพนักงาน ซึ่งพนักงานได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีลาออกจากงาน และได้นำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ได้รับเงินได้นั้น (ได้แก่ปีภาษี 2543 2544 และ 2545) ต่อมาพนักงานได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรสำหรับเงินได้ดังกล่าว โดยระบุมูลเหตุที่ขอคืนเนื่องจาก การลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุตามกรณีข้างต้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 ประกอบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2077/2548 ดังนั้น เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แนววินิจฉัย:
          ตามที่กรมสรรพากรได้จัดทำประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 นั้น ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณากรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ซึ่งการเกษียณอายุตามประกาศฉบับดังกล่าวนั้น หมายถึง ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น หากลูกจ้างและนายจ้างได้ทำสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเกษียณอายุไว้อย่างชัดเจน เงินได้ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากกรณีเกษียณอายุ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 151)ฯ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีดังกล่าว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินนั้นโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอคืนภาษีอากรได้ แต่ต้องยื่นคำร้องภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรด้วย
เลขตู้: 70/34739

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020