เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2330
วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการบันทึกในรายงานภาษีขายและบันทึกบัญชีส่งออกสินค้า รวมทั้งการตัด สต็อกสินค้าในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78(4)(ก) มาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:               บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกสินค้าประเภทอาหารบรรจุในภาชนะ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทที่ไม่ ต้องเสียอากรขาออก บริษัทฯ ได้ดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) จะไม่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรลงชื่อสลักหลังใบขนสินค้าขาออกตรงบันทึกการตรวจ บันทึก การปล่อย การตรวจรับสินค้า บริษัทฯ จะพิมพ์สำเนาใบขนสินค้าได้เฉพาะด้านหน้าของใบขนสินค้า ที่มีเลขที่ใบขนสินค้าและรายละเอียดของสินค้าเท่านั้น บริษัทฯ เห็นว่า ตามมาตรา 78 (4)(ก) แห่ง ประมวลรัษฎากร กำหนดให้การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระ อากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้อง เสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออก ใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร แต่ตามมาตรา 10 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ระบุว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีสำหรับของที่ส่งออกเกิดขึ้นในเวลาที่ส่งของออกสำเร็จ บริษัทฯ ขอทราบว่า
              1. การส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ ในการบันทึกยอดขายส่งออกในรายงานภาษีขายตาม ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการตัดสต็อกสินค้าในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ บริษัทฯ จะต้องใช้วันที่ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงชื่อตรวจปล่อยสลักหลังใบขนสินค้าขาออก หรือใช้วันที่รับบรรทุก สินค้าขึ้นเรือออกไปซึ่งตรงกับวันที่ที่ปรากฏในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)
              2. ในการบันทึกรายได้จากการขายสินค้าเพื่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องใช้วันที่ ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงชื่อตรวจปล่อยสลักหลังใบขนสินค้าขาออก หรือใช้วันที่รับบรรทุกสินค้าขึ้นเรือ ออกไปซึ่งตรงกับวันที่ที่ปรากฏในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)
              3. ตามข้อ 2 และข้อ 27 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 57/2549 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากร ที่ 16/2549 ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 กำหนดให้การผ่านพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกไป นอกราชอาณาจักรให้กระทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) และให้ผู้ส่งของ ออกหรือตัวแทนยื่นขอรับรองใบขนสินค้าขาออกต่อหน่วยบริการศุลกากร พร้อมชำระค่าธรรมเนียม การจำลองเอกสารตามอัตราที่กำหนดไว้ในแบบ บศ.5 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะพิมพ์ใบขนสินค้าจากระบบ คอมพิวเตอร์ของศุลกากรและลงชื่อรับรองว่า "ใบขนสินค้าได้พิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร" กรณีดังกล่าวจะมีวันที่ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงชื่อตรวจปล่อยสลักหลังใบขนสินค้าขาออกหรือไม่ และ สามารถใช้วันที่ที่ปรากฏในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้หรือไม่ หรือจะต้องปฏิบัติอย่างใด

แนววินิจฉัย:               1. กรณีตาม 1 ในการลงรายการในรายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ บริษัทฯ มีหน้าที่ จัดทำรายการตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษี และเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงาน ภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยบริษัทฯ จะต้องลงรายการในรายงานภาษีขายภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นคือวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ซึ่งหมายถึงวันที่ ประทับตราใบขนสินค้าขาออก กล่าวคือ ขั้นตอนในการปฏิบัติกรณีการส่งออกยังคงเป็นไปตามปกติแบบ ที่ใช้เอกสาร เพียงแต่ขณะนี้เป็นการกระทำทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารตามกฎหมายว่าด้วย ศุลกากร และบริษัทฯ จะต้องบันทึกรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่รับมาหรือจ่ายไปจริง และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้า หรือวัตถุดิบ
              2. กรณีตาม 2 การรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องรับรู้ รายได้เมื่อออกใบขนสินค้าขาออกตามเกณฑ์สิทธิ์ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
              3. กรณีตาม 3 การจัดทำใบขนสินค้าสำหรับการผ่านพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกไป นอกราชอาณาจักรซึ่งกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เนื่องจากเป็น วิธีการปฏิบัติงานตามกฎหมายซึ่งอยู่ในความควบคุมของกรมศุลกากร ดังนั้น จึงขอให้บริษัทฯ ได้ สอบถามโดยตรงต่อกรมศุลกากรต่อไป
เลขตู้: 70/34797

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020