เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/314
วันที่:12 กุมภาพันธ์ 2550
เรื่อง:ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้าง
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(8),(9) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1(1)(ก) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ

:               กิจการร่วมค้า K ประกอบกิจการออกแบบและสร้างข่ายสายโทรศัพท์ ได้ทำสัญญารับเหมาช่วง กับบริษัท ม. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประมูลงานจากบริษัท P สำหรับโครงการให้บริการโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน จำนวน 2.6 ล้านเลขหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันองค์การโทรศัพท์แห่ง ประเทศไทยได้แปรรูปเป็น บริษัท T ต่อมาบริษัท P ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงได้ดำเนินการปรับปรุง โครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ (บริษัท ม.) และเจ้าหนี้ตกลงรับชำระหนี้ จำนวนร้อยละ 40 ของหนี้สินทั้งหมด ส่วนหนี้คงค้างอีกร้อยละ 60 จะชำระในอีก 14 ปีข้างหน้า โดยบริษัท P จะออกเอกสารการผ่อนชำระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งบริษัท ม. ได้ปฏิบัติต่อกิจการร่วมค้าฯ ในทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ได้มีการตกลงแปลงหนี้ ที่เหลือร้อยละ 60 จากเงินบาทเป็นเงินเยน และต่อมาในปี 2545 M (ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ม.) ได้ตกลงยินยอมค้ำประกันหนี้ที่จะต้องชำระร้อยละ 60 ของยอดหนี้คงค้างทั้งหมด ถ้าบริษัท P ไม่จ่ายหนี้ให้แก่ บริษัท ม. ตามสัญญาในปี 2557 กิจการร่วมค้าฯ จึงขอทราบว่า
              1. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ประสงค์จะขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างคงค้างทั้งหมดให้แก่ N (ซึ่งเป็นผู้ถือ หุ้นใหญ่ในกิจการร่วมค้าฯ) ซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ เพื่อกิจการร่วมค้าฯ จะดำเนินการปิดกิจการนั้น เมื่อกิจการร่วมค้าฯ ได้รับเงินได้จากการโอนสิทธิเรียกร้องจะมีภาระภาษีอย่างไร และต้องออกใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงินในการขายลูกหนี้ให้แก่ N หรือไม่
              2. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ประสงค์จะขายลูกหนี้ซึ่งเกิดจากการรับเหมาช่วงงาน เพื่อกิจการร่วมค้าฯ จะดำเนินการปิดกิจการนั้น ต้องออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในการขายลูกหนี้ให้แก่บริษัท ม ก่อน หรือไม่ และกรณีดังกล่าวจะมีภาระภาษีในเรื่องภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม
่               3. กรณีเมื่อครบกำหนดในปี 2557 M ต้องจ่ายเงินชำระหนี้ให้แก่ N การนำส่งเงินออกไปต่างประเทศ จะมีภาระภาษีอย่างไร

แนววินิจฉัย:               1. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างให้แก่ N ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ ถือเป็น การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าบริการให้แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 303 และมาตรา 306 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
              2. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ประสงค์จะเลิกกิจการ กิจการร่วมค้าฯ จำต้องออกใบกำกับภาษีที่เกิดจากการ รับเหมาช่วงให้แก่บริษัท ม. เนื่องจากกิจการร่วมค้าฯ มีฐานะเป็นผู้ให้บริการซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2(1) และมาตรา 78/1(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
              3. กรณีเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ในปี พ. ศ. 2557 M ต้องชำระหนี้ค่าจ้างทำของในฐานะเป็น ผู้ค้ำประกัน โดยเป็นการนำส่งเงินไปต่างประเทศให้แก่ N เข้าลักษณะตัวแทนจ่ายเงินได้พึงประเมิน แทนตัวการ ถือว่า เป็นการกระทำแทนลูกหนี้ และการโอนขายลูกหนี้ค่าบริการไม่ทำให้ความรับผิดตาม ประมวลรัษฎากรเปลี่ยนแปลงไป M มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนตัวการ ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ. ศ. 2528
เลขตู้: 70/34787

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020