เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4980
วันที่: 18 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(1) มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ:         ภรรยาของนาย ก. ประกอบอาชีพรับราชการ ได้ใช้สิทธิสมาชิก กบข. กู้ยืมเงินซื้อห้องชุดคอนโดมิเนียมตามโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยของ กบข. ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยกู้ร่วมกับบุตรสาว ทำสัญญาผ่อนชำระกับธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นรายเดือนเป็นระยะเวลา 30 ปี ผู้ทำสัญญาเป็นลูกหนี้กับธนาคารฯ คือ ภรรยากับบุตรสาว โดยนาย ก. ไม่ได้เกี่ยวข้องลงนามผูกพันเป็นผู้กู้ร่วมในสัญญากู้แต่อย่างใด นาย ก. ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการบำนาญ ขณะนี้อายุ 63 ปี มีเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทแรก จึงขอทราบว่า
        1. นาย ก. ไม่ได้เป็นผู้กู้ร่วมกับภรรยาและบุตร มีเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทแรก นาย ก. ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ในปีภาษีนั้นมาหักลดหย่อนหรือไม่
        2. เมื่อนาย ก. อายุ 65 ปีขึ้นไปและมีเงินได้รวมคำนวณภาษีเงินได้ จำนวน 190,000 บาท จะต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของภรรยามาหักลดหย่อนหรือไม่
แนววินิจฉัย:         นาย ก. มีเงินได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทแรก ในปีภาษีนั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 430) พ.ศ. 2548 และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษี ตามข้อ 2(72) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แต่นาย ก. ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 430) พ.ศ. 2548 และตามข้อ 2(72) แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 แล้วแต่กรณี ดังนั้น กรณีที่นาย ก. มิได้เป็นผู้กู้ร่วมกับภรรยาและบุตร อีกทั้งความเป็นสามีได้มีอยู่ตลอดปีภาษี โดยได้แยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินต่างหากจากภรรยา การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยดังกล่าว จึงต้องเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ตามส่วนของสัญญากู้ยืมเงินร่วมระหว่างภรรยากับบุตรเสียก่อน เฉพาะดอกเบี้ยส่วนของภรรยาเท่านั้นที่นาย ก. และภรรยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ฝ่ายละกึ่งหนึ่งตามจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 เบญจ (6) และมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เลขตู้: 70/34931

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020