เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5277
วันที่: 28 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีสำหรับค่าไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาฯ ข้อ 12
ข้อหารือ:         บริษัท T จำกัด ได้ทำสัญญาสั่งซื้อลิขสิทธิ์ของหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้บริหารจาก A ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทไม่แสวงหากำไรตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น หลักสูตรการวางแผนคุณภาพเชิงกลยุทธ การบริหารที่เป็นเลิศ ความเป็นเลิศใน 8 มิติ การวัดและการบริหารความพึงพอใจและความซื่อสัตย์ของลูกค้า เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยบริษัทฯ จะต้องชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นจำนวนหลักสูตรละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ หากมีการจัดอบรมภายในประเทศไทยเกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่า Royalty Fee เป็นจำนวนร้อยละ 30 ของรายได้รวมทั้งหมดก่อนบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยไม่รวมค่าเดินทางและค่าโรงแรมของผู้ฝึกอบรม) สำหรับการจัดการฝึกอบรม 3 ครั้งแรก และเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่าดังกล่าวสำหรับการจัดการฝึกอบรมครั้งต่อไป โดยบริษัทฯ จะต้องโอนเงินผ่านทางโทรเลขภายใน 60 วัน นับแต่วันแรกของการฝึกอบรมแต่ละครั้ง บริษัทฯ จึงขอหารือว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์และค่า Royalty Fee ให้แก่ A จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ในอัตราเท่าใด
แนววินิจฉัย:         แม้ A จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีวัตถุประสงค์ที่มิได้แสวงหากำไร แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า A ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากการใช้ลิขสิทธิ์จากบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นกิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้าหรือหากำไรโดยนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และจึงถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามนัยมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าลิขสิทธิ์และค่า Royalty Fee ให้แก่ A ตามสัญญาฯ เงินได้ดังกล่าว จึงถือเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ที่จ่ายจากประเทศไทย ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าลิขสิทธิ์หรือค่า Royalty Fee ที่ได้จ่ายให้แก่ A ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 12 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 70/34949

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020