เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4452
วันที่: 1 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัท ล.ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบำรุงสนามกอล์ฟจากลูกค้าเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท ถึง 18,000 บาท โดยจะออกใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้าชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ในปี 2543 ถึงปี 2547 บริษัทฯ มีลูกหนี้ค้างชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟ จำนวนทั้งสิ้น 2,130,000 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป็นหนี้สงสัยเผื่อจะสูญไว้ทั้งจำนวน บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจา แต่ลูกค้ามิได้ชำระ ต่อมาปี 2549 บริษัทฯ ได้ทวงถามให้ลูกค้าชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ไปรษณีย์บางส่วนถูกส่งกลับคืน บริษัทฯ เห็นว่า ค่าบำรุงสนามกอล์ฟที่ยังมิได้รับชำระ เป็นหนี้ที่มีลักษณะตามที่ระบุไว้ตามข้อ 3 และ ข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กล่าวคือ เป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการ และยังไม่ขาดอายุความ อีกทั้งมีหลักฐานชัดแจ้งสามารถฟ้องลูกค้าให้ชำระหนี้ได้ ซึ่งหนี้ของลูกค้าแต่ละรายมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ตลอดจนได้มีการติดตามทวงถามให้ลูกค้าชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ได้รับชำระ หากจะฟ้องให้ลูกค้าชำระก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับเงินที่จะได้รับ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. กรณีบริษัทฯ ทวงถามให้ลูกค้าชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟตามสมควรแล้ว บริษัทฯ สามารถจำหน่ายหนี้สูญ ที่ค้างชำระในปี 2543 - 2547 ได้หรือไม่
        2. กรณีบริษัทฯ ทวงถามให้ลูกค้าชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ปรากฏว่า ไปรษณีย์ถูกส่งกลับ บริษัทฯ จะใช้เป็นหลักฐานในการจำหน่ายหนี้สูญได้หรือไม่ หากไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร
        3. หนี้ค่าบำรุงสนามกอล์ฟ มีอายุความการดำเนินคดีแพ่ง เป็นระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้กำหนดอายุความไว้ชัดเจน และตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กำหนดให้หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ได้ ต้องเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความ
แนววินิจฉัย:         1. หนี้ไม่เกิน 100,000 บาท หากได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามเป็นหนังสือจากบริษัทฯ ให้ชำระหนี้ตามสมควร ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และไม่ได้รับชำระหนี้ และกรรมการบริษัทฯ เห็นว่า หากฟ้องลูกหนี้จะเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มหนี้ที่จะได้รับชำระก็สามารถจำหน่ายหนี้สูญได้ ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 6 วรรคสอง และ ข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534
        2. ค่าบำรุงสนามกอล์ฟ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับบริการมีหน้าที่ชำระค่าบำรุงสนามกอล์ฟตามสัญญา แต่หากผู้รับบริการมิได้ชำระภายในกำหนดเวลา ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้ ซึ่งหนี้ค่าบำรุงฯ หากมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เลขตู้: 70/34889

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020