เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4613
วันที่: 8 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในฐานะบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แจ้งว่า ปัจจุบันบริษัทนายจ้างหนึ่งราย สามารถจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างได้มากกว่าหนึ่งกองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล บริษัทฯ จึงขอทราบว่า นายจ้างบางรายมีความกังวลใจว่า เงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายกองทุนรวมกันในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทนายจ้างมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้ทั้งหมดทุกกองทุนได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:         บริษัทนายจ้างมีสิทธินำเงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุน แต่ละกองทุนรวมกัน ในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราเงินสะสมของลูกจ้างแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้างตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนแต่ละกองทุน ภายในสามวันทำการ นับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้างและต้องจ่ายเข้ากองทุนในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกับที่มีการจ่ายค่าจ้าง ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2533
เลขตู้: 70/34899

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020