เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4828
วันที่: 15 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัท M ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ และมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีอากรในประเทศอังกฤษ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
        1. บริษัท M ให้บริการเป็นตัวแทน (Broker) ให้แก่ลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) ด้วย
        2. ในการทำธุรกรรมซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแทนลูกค้าในบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) นั้น บริษัท M จะทำการบันทึกชื่อและที่อยู่ของตนในฐานะเป็นผู้ถือสัญญาล่วงหน้ากับบริษัทสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ซึ่งทั้ง TFEX และ TCH ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ ตามกฎระเบียบของ TFEX กำหนดให้ บริษัท M อาจจะต้องเปิดเผยชื่อของลูกค้าในบางกรณีให้แก่ TFEX แต่ บริษัท M ก็ยังคงเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและจะต้องจัดหาหลักประกันที่เป็นเงินสดเพื่อให้คลุมความรับผิด (บริษัท M argin Calls) และ/หรือทำการจ่ายเงินหรือได้รับชำระเงินเมื่อครบกำหนดชำระ พร้อมกับมีสิทธิที่จะฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องภายใต้ชื่อของ บริษัท M เอง
        3. บริษัท M ได้หารือว่า ในกรณีที่ บริษัท M ขายตราสารอนุพันธ์ดังกล่าวออกไปและมีกำไร กำไรดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามข้อ 14 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:         สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว เป็นตราสารอนุพันธ์ที่โอนเปลี่ยนมือได้ และมีการซื้อขายในบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดังนั้น กำไรจากการขายตราสารดังกล่าว
        จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่ บริษัท M เป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏในฐานะเป็นผู้ถือสัญญาล่วงหน้า (ตราสารอนุพันธ์) กับ TCH ซึ่งจัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ดังนั้น หาก บริษัท M ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ขายตราสารอนุพันธ์ดังกล่าวออกไปและมีกำไร บริษัท M มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่ได้ดังกล่าว โดยผู้จ่ายเงินให้กับ บริษัท M มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี โดยที่ บริษัท M มีถิ่นที่อยู่ในทางภาษีในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ และกำไรจากการขายตราสารดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นผลได้จากทุน ฉะนั้น บริษัท M จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่ได้ในกรณีดังกล่าวตามข้อ 14 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหราชอาณาจักร-อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 70/34915

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020