เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5525
วันที่: 4 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการทำลายของเสีย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         1. บริษัท บ. จำกัด ประกอบกิจการขายส่งเวชภัณฑ์ยา แจ้งให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ เข้าร่วมเป็นพยานในการทำลายสินค้า (เวชภัณฑ์) ของเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 มูลค่ารวม 3,146,187.16 บาท ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับคืนจากลูกค้าเนื่องจากเสื่อมสภาพ มีตำหนิ หมดอายุ หรือหมดสมัยนิยม และได้ผ่านการตรวจสอบโดยเภสัชกรประจำบริษัทฯ ว่าไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้อีก บริษัทฯ ได้ตั้งคณะกรรมการจากฝ่ายการตลาด ฝ่ายบัญชี ฝ่ายประกันคุณภาพและแผนกคลังสินค้า เพื่อรับรองปริมาณและมูลค่าของสินค้าที่เสื่อมสภาพ
        2. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ได้แจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการโดยต้องมีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขายหรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) เข้าร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีพร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีเข้าเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการทำลายแล้วเสร็จให้บริษัทฯ ส่งรายงานการประชุมหรือการอนุมัติให้ทำลายสินค้าโดยมีผู้มีอำนาจ รายละเอียดที่ได้ทำลายจริงโดยมีบุคคลอย่างน้อยตามที่กล่าวข้างต้นและผู้สอบบัญชีที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นพยาน พร้อมแจ้งให้ทราบด้วยว่า ได้ทำลายสินค้าดังกล่าวด้วยวิธีการใด เศษซากหรือสินค้าที่ทำลายแล้วนั้นจะนำไปใช้หรือจำหน่าย ได้หรือไม่ อย่างไร
        3. เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีสถานที่และเครื่องมือทำลายสินค้าจึงได้ว่าจ้างบริษัท ก. จำกัด ทำลายสินค้าด้วยวิธีบดทับแล้วฝังกลบ หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีหนังสือ 2 ฉบับ รายงานการทำลายสินค้าเพิ่มเติมต่อสำนักงานสรรพากร โดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานแต่ไม่ได้แจ้งมูลค่าสินค้าที่ทำลายจริง และไม่ได้แจ้งว่าเศษซากสามารถนำไปใช้หรือจำหน่ายหรือไม่
        (1) การทำลายสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่าย ได้หรือไม่อย่างไร
        (2) ถ้าถือว่าเป็นรายจ่ายได้ให้ถือมูลค่าตามที่บริษัทฯ แจ้งการทำลายต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ก่อนการทำลาย ใช่หรือไม่ เนื่องจากภายหลังการทำลายแล้วไม่มีการแจ้งมูลค่าที่ได้ทำลายจริงเพื่อทราบ
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัท บ. จำกัด ประกอบกิจการขายส่งเวชภัณฑ์ยา ได้รับคืนสินค้าเวชภัณฑ์ยาจากลูกค้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ บริษัทฯ จึงมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ เข้าร่วมเป็นพยานในการทำลายสินค้า กรณีในวันทำลายสินค้าไม่มีผู้สอบบัญชีหรือผู้แทนมาเป็นพยานรับรองการทำลายสินค้าเนื่องจากบริษัทฯ ได้เปลี่ยนผู้สอบบัญชีใหม่ ณ วันที่ทำลายสินค้า และบริษัทฯ ไม่ได้แจ้งมูลค่าที่ทำลายจริงและไม่ได้แจ้งว่าเศษซากสวามารถนำไปใช้หรือจำหน่ายนั้น เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541ฯ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 เป็นเพียงคำสั่งที่กำหนดให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวปฏิบัติในการตรวจสอบ และแนะนำการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการทำลายของเสียเท่านั้น ดังนั้น หากบริษัทฯ มีเอกสารและหลักฐานที่ชัดแจ้งสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการทำลายสินค้าดังกล่าวจริง บริษัทฯ จึงมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) และ (14) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/34967

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020