เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5610
วันที่: 6 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ:       ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ที่ไม่เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะไว้ในขณะที่ผู้ร้องจดทะเบียนขายที่ดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พร้อมบ้านแฝดสองชั้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 ทำให้นางสาว ธ. ต้องถูกเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาว ธ. กับนาย ค. เป็นสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นดังกล่าว จดทะเบียนซื้อขายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 โดยนางสาว ธ. แจ้งย้ายเข้าอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 เมื่อนางสาว ธ. กับนาย ค. จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นให้แก่นาง ร. กับพวก ในราคา 1,030,000 บาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินราคาที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงิน 807,502 บาท และได้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นเงิน 11,709 บาท เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5 จากราคาซื้อขายเป็นเงิน 5,150 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน ลงวันที่ 30 เมษายน 2545 แต่ไม่ได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเข้าใจว่า เมื่อผู้ขายคนใดคนหนึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ขายนานกว่าหนึ่งปี มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งคณะ
        กรมที่ดินเห็นว่า ในการจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม กรณีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกันขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ทำให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ไม่อาจนำเงื่อนไขการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนมาใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะได้ เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีที่ร้องเรียนปรากฏว่า นางสาว ธ. กับนาย ค. ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และได้ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 โดยนางสาว ธ. แจ้งย้ายเข้าอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 เมื่อนางสาว ธ. กับนาย ค. จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นดังกล่าวให้แก่นาง ร. กับพวก ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่จดทะเบียนได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล คำนวณจากยอดรายรับทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกเงินได้ของแต่ละคน และได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ทั้งจำนวน แต่เนื่องจากนางสาว ธ. ให้ถ้อยคำว่า ได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ ในส่วนของนาย ค เป็นเงิน 567 บาท และได้รับเงินค่าอากรแสตมป์คืนเป็นเงิน 2,575 บาท จาก สท.กรุงเทพมหานคร แล้ว ซึ่งไม่ตรงกับความเห็นของกรมที่ดิน กรมที่ดิน
        จึงขอทราบว่า ในการจดทะเบียนขายที่ดินตามข้อเท็จจริงข้างต้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจะต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จะเก็บอย่างไร หากต้องเรียกเก็บตามความเห็นของกรมที่ดิน ผู้ขอจดทะเบียนก็ควรได้รับเงินค่าอากรแสตมป์ที่เสียไปทั้งจำนวนคืน ก็ขอให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมให้ครบถ้วนต่อไป
แนววินิจฉัย:         นางสาว ธ. กับนาย ค. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นดังกล่าว จดทะเบียนซื้อเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 และได้จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมบ้านแฝดสองชั้นดังกล่าว ให้แก่นาง ร. กับพวก ในราคา 1,030,000 บาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 กรณีจึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขาย โดยการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
        ดังนั้น ผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยคำนวณจากยอดรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และหากมีกรณีที่จะต้องขอคืนภาษีอากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนได้
เลขตู้: 70/34985

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020