เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5902
วันที่: 14 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเฉลี่ยสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยในเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 56 และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533 นางสาว อ. ได้ให้นาง จ. กู้ยืมเงินจำนวน 3,900,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยนำที่ดินโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนอง กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนหนึ่งปี แต่นาง จ. ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด นางสาว อ. จึงได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งศาลมีคำพิพากษา และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ในราคา 3,000,000 บาท ซึ่งนางสาว อ. ได้รับเงินชดใช้เป็นจำนวนเงิน 2,831,288 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงขอหารือว่า กรณีนางสาว อ. ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 จำนวนเงิน 2,831,288 บาท จะต้องเฉลี่ยสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่ และมีวิธีการอย่างไร
แนววินิจฉัย:      1. นางสาว อ. ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมาชำระหนี้จำนวนเงิน 2,831,288 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินที่ได้รับดังกล่าวไม่เพียงพอจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด ตามมาตรา 329 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้นำเงินที่ได้มาชำระค่าดอกเบี้ยก่อนหนี้ประธาน จึงไม่มีกรณีต้องเฉลี่ยเงินต้นและดอกเบี้ยแต่อย่างใด และเงินที่นางสาว อ. ได้รับจากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร นางสาว อ. ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2546 ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
        2. นางสาว อ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2535 - 2540 โดยแสดงรายรับจากดอกเบี้ยเงินกู้ รวมจำนวนเงินภาษีที่ชำระ 304,500 บาท หากนางสาว อ. มิได้มีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในปีดังกล่าว จึงเป็นกรณีไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี นางสาว อ. มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35034

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020