เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6502
วันที่: 3 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายได้จากโครงการบ้านพักและศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:        บริษัทฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน สำหรับกิจการบ้านพักและศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเพื่อดำเนินธุรกิจให้เช่าบ้าน หรือบังกะโลระยะยาว สำหรับผู้เกษียณอายุรวมทั้งการให้บริการศูนย์สุขภาพ เช่น สปา สโมสร ภัตตาคาร ฯลฯ วัตถุประสงค์ของบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และ (2) การบริการจัดการศูนย์สุขภาพ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปีกับผู้เช่า บริษัทฯ มีสิทธิรับรู้รายได้จากค่าเช่าเป็นรายปีตามระยะเวลาเช่า ได้หรือไม่
        2. กรณีผู้เช่าผิดสัญญาเช่าและบริษัทฯ มีสิทธิได้รับค่าเสียหายโดยยึดเงินค่าเช่าตลอดระยะเวลา 30 ปี หรือคิดค่าเสียหายตามส่วนจากค่าเช่าทั้งหมดที่ได้รับ บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีเต็มจำนวนทันทีในปีภาษีที่มีการผิดสัญญาหรือไม่ หรือยังสามารถแบ่งการรับรู้รายได้ตามระยะเวลาของสัญญาเช่าตามเดิม
        3. ในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เช่า บริษัทฯ ต้องเก็บค่าธรรมเนียมดูแลพื้นที่จากผู้เช่าเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าจ้างยามรักษาความปลอดภัย คนดูแลสวน พนักงานทำความสะอาด บริษัทฯ มีสิทธิจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวถือเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 หรือไม่
        4. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าธรรมเนียมตาม 3. ลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายในปีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริง ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:       1. บริษัทฯ ทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา 30 ปี หากบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการให้เช่า เงินที่เรียกเก็บล่วงหน้าในลักษณะดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำเงินค่าเช่าที่เรียกเก็บมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สินหรือบริษัทฯ จะนำมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญาเช่าและนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สินก็ได้
        2. ในกรณีมีการผิดสัญญาเช่า บริษัทฯ มีสิทธิจะได้รับเงินค่าเสียหายโดยยึดจากเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้รับชำระไว้แล้วจากผู้เช่า เงินได้ที่บริษัทฯ ได้รับเข้าลักษณะเป็นค่าปรับจากการผิดสัญญาเช่าถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำเงินค่าปรับที่มีสิทธิได้รับทั้งจำนวนหรือตามส่วนมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผิดสัญญาเช่า
        3. การประกอบกิจการของบริษัทฯ ไม่ได้เป็นการจำหน่ายที่ดินที่ได้มีการแบ่งขาย จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการจัดสรรที่ดินตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ แต่อย่างใด เงินได้ค่าบริการจัดการพื้นที่ให้เช่าซึ่งบริษัทฯ ได้รับจากผู้เช่า ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และรายจ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเป็นค่าธรรมเนียมดูแลพื้นที่ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้นั้น บริษัทฯ มีสิทธินำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35093

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020