เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6584
วันที่: 5 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:        บริษัท อ. จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม และประเภทการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ระบบกำลังส่ง ระบบเบรค ระบบ STEERING หรือระบบกันสะเทือน โดยได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดแปดปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติ มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่ได้สิทธิประโยชน์ ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. กรณีบริษัทฯ ทำการผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งไม่มีวางขายในท้องตลาดเป็นการทั่วไป วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีทั้งลูกค้าจัดหามาให้และบริษัทฯ จัดหาเอง ถือเป็นการผลิตหรือรับจ้างทำของ และมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการวินิจฉัยว่าเป็นการผลิตหรือรับจ้างทำของ
        2. เมื่อพ้นเวลาแปดปี นับแต่วันที่บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ ได้ผลิตโดยจัดหาวัตถุดิบเอง และมีบางส่วนที่ลูกค้าจัดหาวัตถุดิบมาให้บริษัทฯ
   ;          (1) ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
   ;          (2) ถ้าบริษัทฯ ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จะถูกหักในอัตราร้อยละเท่าใดและจะถูกหักจากรายได้ทั้งหมดหรือเฉพาะรายได้ค่าจ้างผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่ลูกค้าจัดหามาให้
แนววินิจฉัย:       1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยบริษัทฯ ต้องถ่ายสำเนาบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ว่าจ้างเพื่อแสดงว่าบริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการดังกล่าว
        2. กรณีตาม 2. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
   ;          (1) กรณีบริษัทฯ ผลิตสินค้าขายเป็นปกติธุระ ต่อมาได้รับจ้างผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลกำหนด โดยใช้วัตถุดิบของบริษัทฯ เอง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากรับจ้างผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาให้ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อลูกค้าจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทฯ ลูกค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 เฉพาะค่าจ้างตามข้อ 8 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
   ;          (2) กรณีบริษัทฯ มิได้ผลิตสินค้าขายเป็นปกติธุระ แต่รับจ้างผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลกำหนด กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อลูกค้าจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทฯ ลูกค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 70/35107

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020