เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6922
วันที่: 11 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้ค่าขนส่งเรือเดินทะเล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 มาตรา 40(8) มาตรา 65 และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเป็นตัวแทนนายหน้าในการหาลูกค้ามาใช้บริการเรือเดินทะเลให้แก่ E ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทสายการเดินเรือ โดยไม่มีสัญญาเป็นหนังสือแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนในประเทศไทยแต่อย่างใด รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากค่านายหน้าในการหาลูกค้าในประเทศไทย ส่วนค่าบริการเรือเดินทะเลลูกค้าจะชำระโดยตรงให้แก่ E เมื่อบริษัทฯ ได้รับค่านายหน้าจากการให้บริการหาลูกค้าแล้วบริษัทฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีมอบให้แก่ E แต่มีบางกรณีที่ลูกค้าซึ่งบริษัทฯ หามาใช้บริการเรือ ต้องการจ่ายค่าบริการเรือเดินทะเลโดยชำระผ่านบริษัทฯ เพื่อนำไปมอบให้แก่ E ในกรณีนี้ลูกค้าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 1.0 จากยอดเงินที่ได้ชำระให้แก่บริษัทฯ จากนั้นบริษัทฯ จะนำเงินที่เหลือส่งให้แก่ E ตามใบแจ้งหนี้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. ค่าระวางเรือเดินทะเลที่บริษัทฯ ได้รับไว้แทน E จะถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ หรือไม่ และบริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายหรือไม่
        2. ค่าระวางเรือเดินทะเลที่บริษัทฯ รับแทน E และได้ส่งมอบให้ภายหลัง บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
        3. ลูกค้าต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าระวางเรือเดินทะเลหรือไม่
แนววินิจฉัย:       1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากบริษัทฯ เป็นตัวแทนของ E เพื่อจัดหาลูกค้ามาใช้บริการเรือของ E ตามประเภทของบริการที่บริษัทฯ ได้แสดงแนบท้ายไว้กับแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 กิจการที่บริษัทฯ ดำเนินการนั้นเข้าลักษณะเป็นผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล เงินที่บริษัทฯ ได้เรียกเก็บจากลูกค้าผู้ใช้บริการเรือไม่ว่าจะมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงกันอย่างไรเข้าลักษณะเป็นเงินค่าระวาง ค่าธรรมเนียม หรือประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บที่บริษัทฯ จะต้องนำมาหักออกด้วยเงินค่าระวาง ค่าธรรมเนียม หรือประโยชน์อื่นใดที่ถูก E เรียกเก็บเพื่อคำนวณหารายได้ที่บริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่ลูกค้าของ E ชำระค่าระวางเรือให้แก่บริษัทฯ เพื่อบริษัทฯ นำไปมอบให้แก่ E ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของลูกค้าผู้ใช้บริการ ถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามข้อ 12/4(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 เมื่อบริษัทฯ นำเงินที่ได้รับมาไปชำระให้แก่ E บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกแต่อย่างใด
       2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัทฯ เป็นผู้รับจัดหาลูกค้ามาใช้บริการเรือแล้วรับชำระค่าระวางจากลูกค้าผู้ใช้บริการ ค่าระวางที่บริษัทฯ ได้รับชำระถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของค่าบริการที่จะต้องนำมาหักออกจากค่าระวางที่ E เรียกเก็บจากบริษัทฯ เพื่อคำนวณฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในจำนวนเงินค่าระวางที่รับชำระมาจากลูกค้าได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1(2) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35137

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020