เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/7450
วันที่: 24 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้จากการเช่าทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1 มาตรา 78(3) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:        บริษัทฯ จะทำสัญญาให้เช่าที่ดิน (สัญญาเช่าฯ) กับบริษัท พ. จำกัด โดยบริษัท พ. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของบริษัทฯ จำนวนเงินประมาณ 32 ล้านบาท และจะโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารดังกล่าวให้บริษัทฯ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญา 30 ปีบริษัทฯ กำหนดราคาค่าเช่าที่ดินดังกล่าว ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปของการเช่าที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ลงทุนในการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างอาคารอีกทั้งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าฯ 30 ปี อาคารดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ในสัญญาเช่าฯ ระบุให้บริษัท พ. (ผู้เช่า) เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้น บริษัทฯจึงขอทราบว่าความเข้าใจของบริษัทฯ เกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลดังต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่
        1. กรณีบริษัทฯ คิดราคาค่าเช่าที่ดินกับบริษัท พ. ในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป ถือว่าเป็นเหตุอันสมควร
        2. บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคาร เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 30 ปี ตามสัญญาเช่าฯ ไม่ใช่รับรู้รายได้ ณ วันที่เริ่มทำสัญญาเช่าฯ
        3. บริษัทฯ เป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับบริษัท พ. ในมูลค่าเดียวกันกับที่จ่ายชำระไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่าฯ ดังนั้น บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีขายเมื่อออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บ
แนววินิจฉัย:       1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ให้เช่าที่ดินแก่บริษัท พ. โดยบริษัท พ. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารและโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทฯ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า 30 ปี หากบริษัทฯ คิดค่าเช่าในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่มีการให้บริการได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารจากบริษัท พ. เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 30 ปี บริษัทฯ ต้องคำนวณมูลค่าอาคารดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์เพื่อรวมคำนวณในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 ทวิ มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และน้ำประปา จากบริษัท พ. (ผู้เช่า) เข้าลักษณะเป็นการขายไฟฟ้า และน้ำประปา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 78/3 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35161

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020