เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6504
วันที่: 3 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผิดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/2 มาตรา 83/8 มาตรา 89 มาตรา 89/1 และ พรบ. BOI มาตรา 36(1)
ข้อหารือ        บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการผลิตได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามบัตร ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2548 บริษัทฯ ได้ใช้สิทธินำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อการส่งออก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 โดยบริษัทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าและคณะกรรมการฯ เป็นผู้ค้ำประกันภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ ต่อมา บริษัทฯ ประสงค์จะนำวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ บริษัทฯ จึงขอหารือว่า บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร และถ้าในกรณีที่มีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเกิดขึ้นจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับภาษีอากรอย่างไร
แนววินิจฉัย        บริษัทฯ ประสงค์จะถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลเฉพาะที่ใช้ในการส่งออกโดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ตามมาตรา 36(1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เพื่อนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นเหล่านั้น มาจำหน่ายในประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้มีภาระภาษีอากรตามสภาพ ณ วันนำเข้า และบริษัทฯ ต้องยื่นใบขนสินค้ารวมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/2 และมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่บริษัทฯ มีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ อาจได้รับการพิจารณาให้งดหรือลดเบี้ยปรับนั้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2542
เลขตู้: 70/35094

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020