เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6563
วันที่: 4 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(9) มาตรา 77/1(8) มาตรา 82/4 มาตรา 86 และมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า (สัญญาให้ดำเนินการฯ) กับ กสท. ซึ่งตามสัญญาให้ดำเนินการฯ บริษัทฯ จะต้องจัดหาเครื่องพร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในการให้บริการและส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดให้แก่ กสท โดยสัญญาให้ดำเนินการฯ บริษัทฯ ต้องจัดหาเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ชุมสาย ระบบต่าง ๆ เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอะไหล่ของเครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าว ให้มีจำนวนเพียงพอต่อการให้บริการอยู่เสมอ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น บริษัทฯ ได้รับสิทธิแต่ผู้เดียวในการนำไปให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าตลอดอายุแห่งสัญญาให้ดำเนินการฯ และบริษัทฯ ต้องรับมอบเครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวทั้งหมดไว้ในครอบครองโดยต้องนำหลักฐานการรับมอบไว้ให้แก่ กสท บริษัทฯ ได้มีข้อตกลงดังนี้
        ก. เครื่องและอุปกรณ์ที่มีอยู่ก่อนวันเริ่มเปิดให้บริการนั้น ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท นับตั้งแต่วันเริ่มเปิดให้บริการ
        ข. เครื่องและอุปกรณ์ที่บริษัทฯ นำมาใช้หรือให้บริการภายหลังวันเริ่มเปิดให้บริการ บริษัทฯ ต้องส่งมอบเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมดให้ กสท เพื่อทำการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบเป็นหนังสือแล้ว ให้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ผ่านการให้ความเห็นชอบนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท โดยบริษัทฯ มิต้องทำการส่งมอบอีก
        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ เกี่ยวกับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่
        1. กรณีที่เครื่องและอุปกรณ์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท และ กสท ให้สิทธิบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียวที่จะนำไปให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ถือว่า เครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็น "สินค้า" ตามมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร และการที่เครื่องและอุปกรณ์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท ถือเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก กสท รวมทั้งมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีให้ กสท ตามมาตรา 82/4 และตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวให้ถือตามราคาซื้อขายที่บริษัทฯ ได้ชำระไปเพื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมดโดยไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับการขนย้ายและหรือติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าว
        2. ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องและอุปกรณ์ที่บริษัทฯ ได้จัดซื้อมาและได้ทำการติดตั้งแล้ว ถึงแม้บริษัทฯ จะได้มีการนำเครื่องและอุปกรณ์นั้นมาใช้หาประโยชน์ก่อนที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท หรือไม่ ก็จะต้องถือหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับกรณีการขายสินค้าทั่วไปซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบดังกล่าว ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 462 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ" ในการปฏิบัติที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยส่งมอบเครื่องและอุปกรณ์ให้อยู่ในเงื้อมมือของ กสท ก่อนที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท จะมีแต่เพียงการส่งรายการสรุปเครื่องและอุปกรณ์ที่บริษัทฯ ได้ซื้อและทำการติดตั้งแล้วเสร็จ เพื่อให้ กสท ทำการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบเท่านั้น การส่งมอบรายการสรุปเครื่องและอุปกรณ์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการส่งมอบสินค้า
แนววินิจฉัย        1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ต้องจัดหาเครื่องและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการให้บริการ และต้องส่งมอบให้แก่ กสท ดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก กสท และมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาซื้อที่บริษัทฯ ได้ชำระไป เพื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปก่อนทรัพย์สินดังกล่าวใช้การได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(9) มาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีตาม 2. ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้าหรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบสินค้า โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35105

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020