เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7633
วันที่: 1 สิงหาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯ ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยสรุปข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2 ฉบับ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2544 - 2550 สำหรับปี 2549 กิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำไรสุทธิจำนวน 2 ล้านบาท ส่วนกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 1 มีกำไรสุทธิจำนวน 5 ล้านบาท และตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4 ล้านบาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 อย่างไร
        2. กรณีตาม 1. หากบริษัทฯ เลือกเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิจำนวน 2 ล้านบาทของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว บริษัทฯ จะนำผลขาดทุนสะสมจำนวน 4 ล้านบาทของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 ไปใช้ ภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในระยะเวลา 5 ปี ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย        1. กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 2 ฉบับ บริษัทฯ ต้องนำผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 ฉบับ มารวมคำนวณให้เป็นยอดกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพียงยอดเดียวถ้ามีกำไรสุทธิก็ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถ้าขาดทุนสุทธิก็ให้มีสิทธิยกไปหักจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปหักภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2540        2. กรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 5 ล้านบาท ตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 1 และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 4 ล้านบาท ตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 เมื่อนำมารวมคำนวณแล้วจึงมีกำไรสุทธิประจำปีจำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จึงไม่มีผลขาดทุนสะสมที่จะต้องยกไปใช้ภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกต่อไป และกรณีกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 2 ล้านบาท บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 3 และข้อ 4 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530
เลขตู้: 70/35177

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020