เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./8209
วันที่: 21 สิงหาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติจดแจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำ ภ.พ. 01.3
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 ทวิ
ข้อหารือ        บริษัทฯ ประกอบกิจการ ผลิตเครื่องประดับเงิน ทองรูปพรรณรูปปั้นชุบทองคำ และชิ้นส่วนเครื่องประดับ บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2535 ต่อมาได้แจ้งการประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ ภ.พ.01.4 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 แต่บริษัทฯ ไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำ ภ.พ.01.3 สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ออกตรวจสภาพกิจการ พบว่า ในเดือนกันยายน 2549 บริษัทฯ ขายทองคำแท่ง จำนวน 2,000 กรัม เป็นเงิน 1,521,322 บาท โดยไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้แจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำ ภ.พ.01.3 เฉพาะที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือขายทองคำ เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2543จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 106,492.54 บาท พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอยื่น ภ.พ. 01.3 ย้อนหลังเพื่อให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย        บริษัทฯ ขายทองคำแท่งโดยได้ยื่นแบบ ภ.พ. 01.4 แจ้งการประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ แต่มิได้ยื่นแบบ ภ.พ. 01.3 แจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำ ซึ่งมิได้เป็นไปตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ข้อเท็จจริงตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง ยังถือไม่ได้ว่า มีเหตุอันควรอนุมัติการยื่นแบบ ภ.พ. 01.3 ย้อนหลัง
        ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ บริษัทฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายรับจากการขายทองคำแท่ง ตามมาตรา 3 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 70/35226

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020