เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9085
ลงวันที่: 7 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายค่าอากรในการนำเข้าสินค้า
มาตรา: มาตรา 65 ตรี (6)(9) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัท Aเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยประกอบกิจการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ด้านค้าปลีกและน้ำยาทำความสะอาดรวมทั้งให้บริการซ่อม ติดตั้ง นำเข้าส่งออกสินค้าทุกประเภท บริษัทฯได้นำเข้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อน (เครื่องชงกาแฟ) ซึ่งสินค้าดังกล่าวหากถือเป็นสินค้าอุตสาหกรรมจะมีพิกัดอัตราอากรในการนำเข้าร้อยละ1 แต่ถ้าถือเป็นสินค้าในครัวเรือนจะมีพิกัดอัตราอากรร้อยละ 30 ในกรณีของบริษัทฯ นั้นบริษัทฯ นำเข้าสินค้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อนเพื่อเป็นสินค้าอุตสาหกรรมจึงได้ชำระอากรในพิกัดอัตราร้อยละ1 แต่ภายหลังหากกรมศุลกากรวิเคราะห์ว่า เครื่องทำเครื่องดื่มร้อนที่บริษัทฯ นำเข้าเป็นสินค้าในครัวเรือนจะต้องเสียอากรในอัตราร้อยละ 30 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯนำเข้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อน ผ่านพิธีการศุลกากร บริษัทฯ จึงชำระค่าอากรเพียงร้อยละ 1 และวางประกันต่อกรมศุลกากรอีกร้อยละ 29โดยที่ผ่านมากรมศุลกากรจะแจ้งผลการพิจารณาพิกัดอัตราอากรภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี หลังจากวางประกันซึ่งอาจไม่ใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯได้นำเข้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อนดังกล่าว บริษัทฯ จึงขอทราบว่าการปฏิบัติดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่
        1.กรณีได้รับแจ้งผลการพิจารณาพิกัดอัตราอากรในการนำเข้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อนว่าเป็นสินค้าในพิกัดอัตราอากรร้อยละ30 ในรอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้า บริษัทฯ จะต้องนำค่าอากรที่ชำระเพิ่มเติมถือเป็นต้นทุนสินค้าในรอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้า
        2.กรณีได้รับแจ้งผลการพิจารณาพิกัดอัตราอากรในการนำเข้าเครื่องทำเครื่องดื่มร้อนว่าเป็นสินค้าในพิกัดอัตราอากรร้อยละ30 ในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นที่ไม่ใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้า บริษัทฯ ต้องนำค่าอากรที่ชำระเพิ่มเติมถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทราบผลการพิจารณาจากกรมศุลกากร
แนววินิจฉัย        1. กรณีตาม 1 ในขณะนำเข้าสินค้าบริษัทฯ ชำระค่าอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1และวางประกันต่อกรมศุลกากรอีกร้อยละ 29เนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนค่าอากรที่แน่นอนกรณีบริษัทฯได้รับทราบจากกรมศุลกากรให้ชำระค่าอากรเพิ่มเติมในรอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้าสินค้าบริษัทฯมีสิทธินำค่าอากรที่ชำระเพิ่มไปรวมเป็นต้นทุนสินค้าในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้าสินค้านั้น
        2. กรณีตาม 2 หากบริษัทฯได้รับทราบจำนวนอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มเติมในรอบระยะเวลาบัญชีที่ไม่ใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่นำเข้าสินค้าบริษัทฯมีสิทธินำค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35273

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020