เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9084
ลงวันที่: 7 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีบริษัทต่างประเทศขายสินค้าเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย
มาตรา: มาตรา 80/1 มาตรา 76 ทวิ มาตรา 77/1(6) มาตรา 82/3 และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        1. บริษัท D เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศเดนมาร์ค ไม่มีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทยได้ขายสินค้าให้กับส่วนราชการ (ก.) ตามโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขตั้งแต่วันที่20 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 1มิถุนายน 2550 โดยสินค้าที่ขายเป็นสินค้าที่สั่งซื้อจากประเทศเดนมาร์คสั่งซื้อจากแหล่งอื่นที่มิใช่ประเทศเดนมาร์คและซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศไทย กรณีสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นที่ต้องมีการนำเข้าบริษัท D จะสั่งให้นำส่งที่ประเทศไทยและนำเข้ามาในนามของ ก. บริษัท D ได้ว่าจ้างบริษัท ค. เป็นที่ปรึกษา แนะนำสำหรับสินค้าที่ขายให้กับ ก. ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะออกใบกำกับภาษีให้บริษัท D เมื่อได้ส่งสินค้าหรือให้บริการแล้วส่วนใบเสร็จรับเงินจะออกให้เมื่อบริษัท Dชำระเงินโดยออกในนามบริษัท D ในการนำเข้าบริษัท D เป็นผู้จ่ายค่าเช่าคลังเก็บสินค้าค่าเคลื่อนย้าย ค่าบริการดำเนินการ ค่าประกันภัยสินค้า ในขณะที่สินค้าพักรออยู่ที่คลังสินค้า เพื่อให้ ก. ดำเนินการต่อไปการชำระเงินให้กับผู้ขายหรือผู้ให้บริการ บริษัท D ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการแต่ละประเภทและนำส่งกรมสรรพากรตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภ.ง.ด.53 และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 โดยไม่มีภาษีขายทั้งนี้ นายข..เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการจากการขายสินค้าให้ ก. ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขาย ณ ประเทศเดนมาร์ค บริษัท D จะได้รับชำระค่าสินค้าที่ขายจากธนาคารผู้ให้กู้ โดยการค้ำประกันจากรัฐบาลเดนมาร์ค ณ ประเทศเดนมาร์ค
        2. บริษัท D ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว (ภ.พ.01)เมื่อวันที่ 10มีนาคม 2549 มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2550 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษี มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43) เรื่องกำหนดลักษณะและวิธีการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวและกำหนดแบบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536 บริษัท D จึงขอทราบว่า
            (1) บริษัท D มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย หรือไม่
            (2) บริษัท D มีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
แนววินิจฉัย        บริษัท Dเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศเดนมาร์ค ขายสินค้าให้กับ ก.ตามโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขโดยเช่าคลังเก็บสินค้าไว้เก็บสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีนายโกสินฯเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการในประเทศไทยอีกทั้งได้ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)ฯ ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536และมีการสั่งซื้อสินค้าและใช้บริการในประเทศไทยเป็นปกติ จึงมีภาระภาษีดังนี้
        1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท D จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวในประเทศไทยและได้ขายสินค้าให้กับ ก.โดยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและซื้อสินค้าในประเทศไทย ถือว่า บริษัท D มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามมาตรา 76ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ค และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยฯและตามมาตรา 3แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ผู้ทำการติดต่อมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบและเสียภาษีให้บริษัท D
        2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท D ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเดนมาร์ค และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 77/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรหากมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีที่คำนวณภาษีนั้นได้ตามมาตรา82/3 วรรคสาม และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534 เมื่อบริษัท D สั่งซื้อสินค้าและใช้บริการในประเทศไทยโดยให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการส่งสินค้าหรือให้บริการที่เกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าการประกันภัย และการให้คำแนะนำปรึกษา สำหรับสินค้าที่ขายให้กับ ก. โดยตรง ถือว่า บริษัท D ขายสินค้าในราชอาณาจักร จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80แห่งประมวลรัษฎากรและมีสิทธิได้รับคืนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีการขายสินค้าให้กับ ก. ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการแก่กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจ บริษัท D จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวงกรมราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(4)แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 70/35272

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020