เมนูปิด

          บริษัท A หารือเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนล่วงหน้า โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้


          1. บริษัท B ผู้ออกหุ้น มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 10,000 ล้านบาทแบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยมีบริษัท A เป็นผู้ถือหุ้นประมาณร้อยละ 60 และC เป็นผู้ถือหุ้นประมาณร้อยละ 40 เรียกชำระเต็มมูลค่าหุ้น ต่อมา B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุน ดังนี้


          2. วันที่ 5 มีนาคม 2542 B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจำนวน 2,400 ล้านบาท เรียกชำระเต็มมูลค่าหุ้น รวมเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 12,400 ล้านบาท มี A และ C ถือหุ้นเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ


          3. วันที่ 21 มกราคม 2543 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ B ได้มีมติพิเศษอนุมัติให้ Bจดทะเบียนเพิ่มทุนจากเดิม จำนวน 12,400 ล้านบาท เป็นจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยให้ออกหุ้นใหม่จำนวน 376 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนตามกฎหมาย เพียงแต่กำหนดเป็นกรอบและจะทยอยจดทะเบียนเพิ่มทุน เป็นครั้งคราวไปจนกว่าจะครบจำนวน 376 ล้านหุ้น เป็นจำนวนเงิน 37,600 ล้านบาท โดยไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นอีก จากมติพิเศษที่อนุมัติให้ B เพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว B ได้เรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นและจดทะเบียนเพิ่มทุนหลายครั้งนี้


              3.1 วันที่ 21 มกราคม 2543 B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีกจำนวน 41 ล้านหุ้น เป็นเงินจำนวน 4,100 ล้านบาท เรียกชำระเต็มมูลค่าหุ้น รวมเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 16,500 ล้านบาท มี A และ C ถือหุ้นเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ


              3.2 วันที่ 9 ตุลาคม 2545 B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีกจำนวน 50 ล้านหุ้น เป็นเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท เรียกชำระเต็มมูลค่าหุ้น รวมเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 21,500 ล้านบาท มี A และ C ถือหุ้นเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ


              3.3 วันที่ 4 ตุลาคม 2446 A ได้รับโอนหุ้นของ B ที่ C ถือหุ้นอยู่ จำนวน 42.53 ล้านหุ้น เป็นเงิน จำนวน 4,253 ล้านบาท (เพื่อชำระค่าหุ้นของ A.ที่ออกหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียน) เป็นผลให้ A เป็นผู้ถือหุ้นใน B คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.99


              3.4 วันที่ 17 สิงหาคม 2547 B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีกจำนวน 115 ล้านหุ้น เป็นเงินจำนวน 11,500 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 33,000 ล้านบาท มี A ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99


              3.5 ก่อนการจดทะเบียนเพิ่มทุนครั้งสุดท้าย (วันที่ 14 ตุลาคม 2548) B ได้เรียกให้ A ชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2548 B ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีกจำนวน 170 ล้านหุ้น เรียกชำระหุ้นในอัตรา ร้อยละ 25 เป็นเงินจำนวน 4,250 ล้านบาท ตามจำนวนเงินที่ A ได้จ่ายให้ B ก่อนจดทะเบียนเพิ่มทุน ซึ่ง A ได้ชี้แจง เหตุผลการจ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนล่วงหน้าก่อนการจดทะเบียนว่าไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ทันทีในขณะเมื่อได้รับชำระค่าหุ้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกรรมการที่มีอำนาจลงลายมือชื่อลาออก


              3.6 วันที่ 1 มกราคม 2549 B ได้โอนกิจการให้แก่ A แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกระทรวงพาณิชย์ B จึงขอทราบว่า การที่ A ชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ B ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2548 ถึง วันที่ 20 กันยายน 2548 นั้น ถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

          กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ดังนั้น หากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า B ทำตามมติพิเศษตาม 3. มาตลอดทุกปีในการชำระเงินค่าหุ้น กรณีพิจารณาได้ว่า เป็นการจ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการนำเงินไปให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงจะเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.01)/3174
วันที่: 18 ตุลาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
แนววินิจฉัย
เลขตู้: 70/35397

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020