เมนูปิด

          1. บริษัทฯ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคม 2532 ได้เข้ามารับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2532 โดยเข้าร่วมเป็นบริษัทผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานปิโตรเลียม (บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมตามสัมปทานแปลงดังกล่าวเท่านั้น)


          2. การเข้าร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัมปทานแปลงดังกล่าว มีสัดส่วนและบริษัทที่เข้าร่วมดังนี้


              - บริษัท ก. ร้อยละ 5


              - บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 45


              - บริษัท B ร้อยละ 35


              - บริษัท Amarada Hess (Thailand) ร้อยละ 15


          3. เนื่องจากบริษัทฯ มีส่วนได้เสียในสัมปทานแปลงดังกล่าวเพียงร้อยละ 5 และโดยที่บริษัทฯ มิได้เป็น ผู้ดำเนินงาน (Operator) ในสัมปทาน บริษัทฯ จึงมิได้เปิดสำนักงานในประเทศไทยในเบื้องต้น (บริษัทฯ เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีรายได้จากสัมปทาน) และบริษัทฯ เห็นว่า การจ้างให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารงานและจัดการจะประหยัดและคุ้มค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จะจ้างพนักงานและบุคลากรเป็นของตนเองเพื่อการบริหารและจัดการ


          4. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในเดือนพฤษภาคม 2533 บริษัทฯ (โดยสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น) จึงได้ทำสัญญาจ้างบริหาร (Administrative Service Agreement) กับบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัท A ให้บริการเกี่ยวกับการจัดการและการบริหารที่จำเป็นโดยตามสัญญาดังกล่าว บริษัท A จะต้องให้บริการดังต่อไปนี้


              4.1 บริการด้านวางแผนและบริหาร (Corporate Planning & Administration Division)


              4.2 บริการด้านการเงินและการบัญชี (Finance & Accounting Division)


              4.3 บริการด้านโครงการและการลงทุน (Project & New Venture Division)


              4.4 บริการด้านสำรวจและผลิต (Exploration & Production Division)


              ทั้งนี้ บริษัทฯ ตกลงที่จะจ่ายค่าบริการให้กับบริษัท A โดยคิดจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่บริษัท A ได้จ่ายไปเพื่อการบริหารงานของบริษัทฯ ตาม Memorandum with regard to expense charges


          5. นอกจากค่าจ้างบริหารงานดังกล่าวใน 4 บริษัทฯ ยังมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทยอีก 3 รายการดังนี้


              5.1 ต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในประเทศญี่ปุ่น


              5.2 ค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่บริษัทฯ จ่ายให้กับผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่บริษัทฯ นำมาใช้ในการประกอบกิจการ ปิโตรเลียม


              5.3 ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน


          เนื่องจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในประเทศญี่ปุ่นดำเนินการจ่ายเงิน Cash Call เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ ปิโตรเลียมในสัมปทานแปลงดังกล่าว ให้กับบริษัทผู้ดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ บริษัท B โดยในการเรียกเก็บเงิน Cash Call นั้น บริษัท B ได้เรียกเก็บตาม Statement of Account เป็นเงินเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่การเริ่มต้นของสัญญาการดำเนินงาน จนกระทั่งจัดตั้งสำนักงานที่กรุงเทพ ตามที่กำหนดในสัญญา ซึ่งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ จะแปลงค่าเงินเหรียญดังกล่าวเป็น เงินเยนเพื่อบันทึกบัญชีตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้น สาขาในประเทศไทยจึงจะทำการแปลงค่าเงินเยน เป็นเงินบาทเพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายในประเทศไทย กรณีดังกล่าว จึงทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุน (หรือผลกำไร) จากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินเยน และจากเงินเยนเป็นเงินบาท


          6. บริษัทฯ ได้หารือว่า รายจ่ายตาม 4. และ 5. ข้างต้น ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมถูกต้องหรือไม่

          (1) กรณีค่าจ้างตามสัญญาจ้างบริหารตาม 4.หากรายจ่ายค่าจ้างบริหารดังกล่าว เป็นการจ้างบริหารที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัทฯ โดยตรง และมีจำนวนที่เหมาะสมที่จะถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็น บริษัทฯย่อมมีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของบริษัทฯ ได้ ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


          (2) กรณีต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในประเทศญี่ปุ่นในกรณีที่บริษัทฯ ประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย บริษัทฯ มีสิทธินำต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ เฉพาะเท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัทฯมาถือเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 24(8) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


          (3) กรณีค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้หากค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ เป็นค่าตอบแทนตามสัญญาค้ำประกันการชำระคืนเงินกู้ที่บริษัทฯ นำมาใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของบริษัทฯ ค่าธรรมเนียมดังกล่าว มิใช่ดอกเบี้ย และไม่ต้องห้ามในการลงรายจ่าย ตามมาตรา 25(10) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แต่หาก ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่สามารถลงเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


          (4) กรณีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน


          ในกรณีที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในประเทศญี่ปุ่น จ่ายเงิน Cash Call ให้กับบริษัท B ซึ่งเรียกเก็บเป็นเงินเหรียญสหรัฐ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ จึงต้องแปลงค่าเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินเยนเพื่อบันทึกบัญชีตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และต่อมาสาขาในประเทศไทยจึงแปลงค่าเงินเยนเป็นเงินบาทเพื่อบันทึกบัญชีตามกฎหมายไทยนั้น เนื่องจากบัญชีเงิน Cash Call ซึ่งเป็นเงินเยนเป็นสินทรัพย์ในบัญชีของสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น สาขาในประเทศไทย จึงไม่มีสิทธินำผลขาดทุนที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของการแปลงค่าเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินเยน มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในประเทศไทยได้ เมื่อต่อมาสาขาบันทึกบัญชีเงิน Cash Call ซึ่งเป็นเงินบาทในบัญชีของสาขา สาขามีสิทธินำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินเยนเป็นเงินบาทมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ อย่างไรก็ดีหากสาขามีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน สาขามีหน้าที่ต้องนำผลกำไรนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเช่นเดียวกันตามมาตรา 22(5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10513
วันที่: 17 ตุลาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กรณีการหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 22(5) และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ข้อหารือ
แนววินิจฉัย
เลขตู้: 70/35381

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020