เมนูปิด

          บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ลงวันที่ 18 เมษายน 2549 เพื่อแจ้งโอนกิจการทั้งหมด ให้กับบริษัท อ. (ผู้รับโอน) ในวันที่ 30 เมษายน 2549 ต่อมาที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรเขตในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 แจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ได้มีการตกลงเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันโอนกิจการจากเดิมวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2549 เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการโอนสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ติดตั้ง โอนสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีต่อธนาคารฯ และโอนพนักงานลูกจ้างไปให้ผู้รับโอนกิจการได้เสร็จเรียบร้อยภายในกำหนดวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นผลมาจากธนาคารฯ จะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาให้ สินเชื่อแก่ผู้รับโอนกิจการ เพื่อเข้ามารับโอนหนี้สินทั้งหมดที่บริษัทฯ มีต่อธนาคารฯ ประกอบกับการจัดการเรื่องการโอนพนักงานที่มีจำนวนหลายร้อยคนยังไม่เสร็จเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการโอนขายหุ้นของ บริษัท อ. ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการโอนกิจการทั้งหมดให้กับบริษัท อ. เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 และได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 พร้อมได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ลงวันที่ 12 มกราคม 2550 เพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการในวันที่ 28 ธันวาคม 2549

          1. กรณีบริษัทฯ ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัท อ. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 และได้จดทะเบียนเลิก กิจการต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการ ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ตามมาตรา 85/13 และมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดแบบเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 09 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 ขอโอน กิจการวันที่ 30 เมษายน 2549 และหนังสือจากที่ปรึกษากฎหมายฯ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทฯ แจ้งขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันโอนกิจการจากเดิมวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2549 โดยยื่นแบบ ภ.พ.09 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 เพื่อแจ้งเลิกประกอบกิจการในวันที่ 28 ธันวาคม 2549 กรณีดังกล่าว ถือได้ว่า บริษัทฯ ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องรับผิดตามมาตรา 90/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร


          2. กรณีบริษัทฯ จดทะเบียนเลิกกิจการต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549ถือได้ว่าตั้งแต่ก่อนระยะเวลาแจ้งเลิกประกอบกิจการ บริษัทฯ ยังคงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อจัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นจากการขายหรือให้บริการแล้วแต่กรณีและมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 มาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9955
วันที่: 1 ตุลาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการการออกใบกำกับภาษีและการนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาคำนวณภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 85/13 มาตรา 85/15 มาตรา 90/1(5) มาตรา 82/3 มาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
แนววินิจฉัย
เลขตู้: 70/35347

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020