เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9455
ลงวันที่: 19 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(ก)ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ
ข้อหารือ        นาย ก.ได้ทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่อมาได้เข้าทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯ.โดยได้โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมมาเป็นระยะเวลา 11ปีจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งนาย ก.ได้ทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 รวมระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน หลังจากนั้นนาย ก.ได้ลาออกจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯ และไปทำงานที่ บริษัท ท. ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2549 ถึงปัจจุบันโดยมิได้โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปด้วย ซึ่งนาย ก.ได้ขอรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากผู้จัดการกองทุนคือ บริษัท อ.ซึ่งผู้จัดการกองทุนฯได้จ่ายเงินกองทุนฯ พร้อมออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย นายก.ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) สำหรับปีภาษี 2549โดยได้นำเงินที่ได้รับจากบริษัท อ.รวมคำนวณกับเงินเดือนประจำ ซึ่งมีผลให้นาย ก.ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 79,945.66 บาทแต่หากใช้ใบแนบแสดงรายการโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ซึ่งเป็นเงินเดือนจะไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมและยังสามารถขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้ด้วย นาย ก. จึงหารือว่ากรณีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินเดือนจะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณเป็นภาษีเงินได้หรือไม่
แนววินิจฉัย        หากนาย ก.ได้ลาออกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และเข้าทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯโดยได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯและนายจ้างไม่ได้มีการจ่ายเงินได้ประเภทเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้แก่นาย ก. นาย ก.จึงมีสิทธินับรวมอายุการทำงานที่ทำอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่อเนื่องกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯได้ ดังนั้น นาย ก.ย่อมมีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งบริษัทอ.เป็นผู้จัดการกองทุน มาเลือกคำนวณภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ทั้งนี้ตามมาตรา 48(5)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ก)ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1)แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
เลขตู้: 70/35332

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020