เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11843
วันที่: 28 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาเช่า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (23) และ (18) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          เงินชดเชยที่บริษัท ซ. จ่ายให้แก่ผู้เช่ากรณีบริษัทฯ ขอยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ก่อนครบกำหนดตามสัญญานั้น เกิดขึ้นเนื่องจากประเภทธุรกิจของผู้เช่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือผู้เช่าได้ขายสินค้าที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดในปัจจุบัน เมื่อบริษัทฯ ขอให้ผู้เช่าปรับปรุงตกแต่งร้านค้าให้ดูทันสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ของศูนย์การค้าของบริษัทฯ ให้ดูทันสมัยตลอดเวลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในเชิงธุรกิจ ผู้เช่าก็ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะตกแต่งร้านค้าของตนได้บริษัทฯ จึงเห็นว่า หากบริษัทฯ ยกเลิกสัญญาเช่ากับผู้เช่าและตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่า จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ ในระยะยาว บริษัทฯ จะสามารถนำพื้นที่ที่มีการยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวออกให้ผู้อื่นเช่าได้ในราคาค่าเช่าที่สูงขึ้นกว่าเดิม ดังปรากฏตามเอกสารที่ส่งมาประกอบการพิจารณาและสาเหตุที่ไม่ได้มีการกำหนดข้อตกลงเรื่องการจ่ายเงินชดเชยไว้ในสัญญาเช่านั้น บริษัทฯ ชี้แจงว่า การกำหนดข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ เสียเปรียบผู้เช่าในเชิงธุรกิจ บริษัทฯ จึงต้องตกลงกับผู้เช่าในขณะที่มีการยกเลิกสัญญาเช่า และการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่านั้น บริษัทฯ สามารถพิสูจน์ผู้รับเงินได้ บริษัทฯ จึงเห็นว่า บริษัทฯ มีสิทธินำเงินชดเชยนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(18) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯขอให้ผู้เช่าปรับปรุงตกแต่งร้านค้าของผู้เช่าให้ดูทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ของศูนย์การค้าของบริษัทฯ ให้ดูทันสมัยตลอดเวลาแต่ผู้เช่าไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะตกแต่งร้านค้าของตนโดยมีสัญญากำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับการปรับภาพลักษณ์ของศูนย์การค้าก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ ในระยะยาวและก่อให้เกิดรายได้แก่บริษัทฯ มากกว่าเดิม โดยบริษัทฯ สามารถนำพื้นที่ออกให้เช่าได้ในราคาอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าเดิมซึ่งหากการตกลงยกเลิกสัญญาเช่าและการทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่านั้น ผู้เช่าไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ หรือ เป็นฝ่ายขอยกเลิกสัญญาเช่าก่อน การที่บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่าโดยบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่า การจ่ายเงินชดเชยนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ มากกว่าเดิมและบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ผู้รับเงินชดเชยได้ การจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นรายจ่ายสำหรับการดำเนินการเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำเงินชดเชยนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี(13) และ (18) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35480

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020