เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/572
วันที่: 24 มกราคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: พรบ.ส่งเสริมการลงทุน มาตรา 31 และมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท บ. หารือเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากการประกอบกิจการ ทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2549 มีผลกำไรและขาดทุนในแต่ละประเภทกิจการ ดังนี้
          1. บัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปี 2539 สิ้นสุดระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2547 และ ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ สำหรับกำไรสุทธิจากการประกอบการ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 55,832,103 บาท และมีผลขาดทุนสะสมในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 34,974,046 บาท
          2. บัตรส่งเสริมฯ ปี 2546 สิ้นสุดระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2548 ผลประกอบการในรอบระยะเวลา บัญชีปี 2549 มีกำไรสุทธิ จำนวน 147,224,002 บาท เสียภาษีอัตราภาษีในอัตราร้อยละ 30
          3. บัตรส่งเสริมฯ ปี 2547 สิ้นสุดระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2549 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 13,474 บาท และมีผลขาดทุนสะสมในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 43,662,201 บาท
          บริษัทฯ ขอทราบว่า
          (1) บริษัทฯ จะเลือกเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิปี 2549 จำนวน 55,832,103 บาท อันเกิดจาก การประกอบกิจการตามบัตรส่งเสริมฯ เลขที่ 1269/2539 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ แต่ยังคงได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนตามบัตรดังกล่าวในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตรา ปกติมีกำหนดห้าปี โดยไม่นำผลขาดทุนสะสมประจำปีในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมาใช้ได้หรือไม่
          (2) บัตรส่งเสริมฯ ปี 2546 ผลประกอบการในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 มีกำไรสุทธิ จำนวน 147,224,002 บาท ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จะนำเอาผลขาดทุนสุทธิของกิจการ ตามบัตรส่งเสริมฯ เลขที่ 1269/2539 จำนวน 34,974,046 บาท และผลขาดทุนสุทธิตามบัตรส่งเสริมฯ ปี 2547 จำนวน 43,662,201 บาท มาหักออกจากกำไรสุทธิของกิจการที่เคยได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ ปี 2546 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          บริษัทฯ ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่า 1 โครงการ ต่อมาเมื่อบางโครงการพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ยังคงได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติ มีกำหนด เวลาไม่เกินห้าปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทำให้บริษัทฯ ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีทั้งโครงการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งจำนวน และโครงการที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของ อัตราปกติ บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนของโครงการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปหักออกจากกำไรสุทธิของโครงการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติก่อน และหากบริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนประจำปีของกิจการที่ได้รับ การส่งเสริมการลงทุนเหลืออยู่อีก จึงจะมีสิทธินำไปหักออกจากกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ
เลขตู้: 70/35254

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020