เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/46
วันที่: 3 มกราคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ          1. นาย พ. พนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ประจำปี 2547 ตามประกาศรัฐวิสาหกิจ เรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2548 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยนาย พ. ได้ยื่นความประสงค์ จะขอลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 เนื่องจากเจ็บป่วยและมีอายุทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (ตามใบแสดงความเห็นแพทย์ ลงวันที่ 8 กันยายน 2546) และได้รับเงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน นาย พ. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 มีเงินได้พึงประเมิน จากรัฐวิสาหกิจและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคำนวณภาษีตามใบแนบไม่มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มหรือชำระไว้เกิน
          2. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 นาย พ. โดยนาง ส. (ภริยา) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2547 จำนวนเงิน 54,648.04 บาท เนื่องจาก ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีทุพพลภาพ ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509ประกอบกับประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตายลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยแนบหลักฐานหนังสือรับรองของแพทย์ผู้ทำการรักษาฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2550 ซึ่งรับรองว่า นาย พ. ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ไตเสื่อม และเส้นโลหิตในสมองตีบไม่สามารถปฏิบัติงานได้
แนววินิจฉัย          เมื่อนาย พ. ได้ยื่นความประสงค์จะขอลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 เพราะป่วย ด้วยโรคเบาหวาน ไตเสื่อมและเส้นโลหิตในสมองตีบ (ตามใบแสดงความเห็นแพทย์ลงวันที่ 8 กันยายน 2546) โดยมีแพทย์ที่ทางราชการรับรองตรวจและแสดงความเห็นว่า นาย พ. เข้ารักษาที่โรงพยาบาลฯ และไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ซึ่งรับรองหลังจากการลาออกจากงาน ตามหนังสือรับรองลงวันที่ 23 มิถุนายน 2550 และได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเช่นนี้ หากนาย พ. มีหลักฐานยืนยันจากแพทย์ที่ทางราชการรับรองว่า นาย พ. ออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไปและมีหลักฐานจากรัฐวิสาหกิจ รับรองว่า นาย พ. ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวมาแสดงด้วย จึงเข้าลักษณะเป็นการออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ตามข้อ 1(2) และข้อ 1 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่นาย พ. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีดังกล่าวจึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
เลขตู้: 70/35552

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020