เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/852
วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการทั้งหมด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74(1)(ก) และมาตรา 77/1(8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบ กิจการผลิตแผ่นเหล็กมุงหลังคาและอุปกรณ์ที่ใช้ในการมุงหลังคา บริษัท อ. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่าที่ดิน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 บริษัททั้งสอง (ผู้โอน) ได้ตกลงโอนกิจการอันเป็นการโอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดให้แก่ บริษัท ท.(ผู้รับโอน) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิต ผนัง ฝ้า และแผ่นเหล็กมุงหลังคา การโอนกิจการดังกล่าว มีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ และบริษัท อ. ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 ต่อมาบริษัท ท. ได้แจ้งการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามแบบ ค.อ.1 ถึง ค.อ.4 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กัน ของ บริษัทมหาชน จำกัดหรือบริษัท จำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ประกอบกับประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กัน ของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ซึ่ง สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ได้ออกใบรับเอกสารตามแบบ ค.อ.5 เมื่อวันที่ 30มีนาคม 2550
          2. บริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนมีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม โดยบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทพร้อมดำเนินการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 และบริษัท อ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทพร้อมดำเนินการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 บริษัทฯ เข้าใจว่า การจดทะเบียนเลิกบริษัทและ ชำระบัญชีของบริษัทผู้โอน (ขณะนี้บริษัทผู้โอนทั้งสองบริษัทอยู่ในระหว่างขั้นตอนการชำระบัญชี) แม้ไม่สามารถ จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีได้ในรอบระยะเวลาเดียวกับการชำระบัญชี แต่การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็น การปฏิบัติตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งไม่ถือเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ดังกล่าว บริษัทผู้โอนจะได้รับยกเว้นรัษฎากร ตามประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ และบริษัท อ. ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. หากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันดังกล่าว เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 บริษัทผู้โอนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทาง ภาษีอากร ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
               กรณีบริษัทผู้โอน ได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ แม้ยัง ไม่เสร็จการชำระบัญชีก็ตาม ทรัพย์สินที่บริษัทผู้โอนได้โอนให้กับบริษัทผู้รับโอนจะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่ จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัท ผู้โอน ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้โอนไม่ต้องนำ มาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74(1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่างบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ถือเป็นการขาย ตามบทนิยามของคำว่า "ขาย" ในมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้โอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการดังกล่าว แต่อย่างใด
          3. ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์
               การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
เลขตู้: 71/35618

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020