เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/128
วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 มาตรา 40(2) มาตรา 50(1) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาและออกแบบโครงการสร้างระบบลำเลียง และได้เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยโดยเป็นกรรมการของบริษัท ท.
          1. เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้กับชาวต่างชาติ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราใด
          2. การรับจ้างของชาวต่างชาติ เข้าลักษณะเป็นกรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวใช่หรือไม่ และบริษัทฯ จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แบบ ภ.พ. 36 หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีชาวต่างชาติรับจ้างบริษัทฯ เป็นที่ปรึกษาและออกแบบโครงการสร้างระบบลำเลียง โดยมิได้เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เงินได้จากการรับจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้จากหน้าที่งานในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่ชาวต่างชาติ อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน จึงมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้ชาวต่างชาติ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50 (1) วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่บริษัทฯ จ้างชาวต่างชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาและออกแบบโครงการ สร้างระบบลำเลียงนั้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ชาวต่างชาติจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากชาวต่างชาติ มีรายรับจากการให้บริการไม่เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ชาวต่างชาติจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35653

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020