เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ.789
วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการหักเงินประกันผลงาน (Retention)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 84/1(1) มาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ก. (บริษัทฯ) แจ้งว่า
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท A ซึ่งเป็น นิติบุคคลตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ รับเหมาก่อสร้าง ให้ดำเนินการจัดหาสัมภาระและก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า ตามสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ ตกลงชำระ ค่าก่อสร้างเป็นรายงวดตามอัตราความคืบหน้าของผลสำเร็จของงาน (milestone) และหักเงินประกันผลงานในอัตรา ร้อยละ 10.0 ของค่าก่อสร้างที่บริษัท A เรียกเก็บในแต่ละงวด
          2. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2549 บริษัท A ได้ออกใบเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้าง (invoice) ตาม สัญญาในแต่ละงวดจากบริษัทฯ เป็นเงินเท่ากับค่าก่อสร้างตามอัตราความคืบหน้าของผลสำเร็จของงาน หักด้วยเงินประกัน ผลงานในอัตราร้อยละ 10.0 พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณจากฐานของค่าก่อสร้างที่หักเงินประกัน ผลงานดังกล่าวออกแล้ว และบริษัทฯ ได้ชำระค่าก่อสร้างให้บริษัท A ตามจำนวนค่าก่อสร้างที่ได้หักเงินประกันผลงานออกในอัตราร้อยละ 10.0 พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บริษัท A เรียกเก็บ เช่น
          ภาษีมูลค่าเพิ่ม เดือนกรกฎาคม 2548
          ค่างวดที่ต้อ          เป็นเงิน 97,616,260.22 บาท
          เงินประกันผลงาน ร้อยละ           เป็นเงิน 9,761,626.02 บาท
                              คงเหลือ 87,854,634.20 บาท
          ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อ          เป็นเงิน 6,149,824.39 บาท
          3. เมื่อบริษัท A ได้รับชำระค่าก่อสร้างจากบริษัทฯ บริษัท A จะออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้นำ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่บริษัท A ออกให้ไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้ขอคืนภาษีซื้อดังกล่าว ซึ่งกรมสรรพากรได้คืนภาษีซื้อให้แล้ว
          4. ต่อมา บริษัทฯ ตรวจพบว่า การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท A เรียกเก็บจากบริษัทฯ ตามใบกำกับภาษีที่ออกในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2549 สำหรับค่าก่อสร้างตามสัญญา เป็นการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง ตามข้อ 1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 กล่าวคือ บริษัท A ผู้รับจ้าง ต้องนำเงินประกันผลงานที่ถูกบริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง หักจากเงินค่าจ้างแต่ละงวด มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
          5. บริษัทฯ และบริษัท A ได้แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาด ย้อนหลัง พร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้องฉบับใหม่ เพื่อแทนใบกำกับภาษีฉบับเดิมแต่ละฉบับ ตามข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยระบุวัน เดือน ปีใน ใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงกับวัน เดือน ปีตามในใบกำกับภาษีฉบับเดิมทุกฉบับ และเลขลำดับของใบกำกับภาษีฉบับใหม่ เป็นเลขลำดับใหม่ พร้อมทั้งมีหมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกแบบใบกำกับภาษีฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมเลขที่..... เล่มที่....."
          บริษัทฯ จึงขอหารือ ดังนี้
          1. บริษัท A ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่เพื่อปรับปรุงแก้ไขยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระขาดไป โดยการยกเลิกใบกำกับภาษี ฉบับเก่า และออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ระบุวันที่ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ตามวันที่ปรากฏในใบกำกับภาษีฉบับเดิม เป็นการ กระทำที่ถูกต้องหรือไม่
          2. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อทั้งจำนวนตามใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ออกโดยบริษัท A ไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ในแต่ละเดือนหรือต้องขอคืนภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีฉบับใหม่ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ปรากฏใน ใบกำกับภาษีฉบับใหม่
แนววินิจฉัย          1. การดำเนินการของบริษัท A ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีโดยมีรายการ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้อง ดังนั้น บริษัท A ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ดังนี้
               (1) บริษัท A ต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมจากบริษัทฯ และนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ "ขีดฆ่า" แล้ว เก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
               (2) บริษัท A ต้องจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
               (3) บริษัท A ต้องหมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่..... เล่มที่....." และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
               (4) บริษัทฯ จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ยกเลิก) เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับเดิมให้กับบริษัท A นำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน
          2. หลังจากได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่จากบริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขจำนวนภาษีซื้อให้ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลให้บริษัทฯ มีภาษีซื้อเพิ่มขึ้น และมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อดังกล่าวได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35615

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020